คุณภาพชีวิตของบุคลากรในหน่วยงานราชการที่มีผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 กรณีศึกษา : กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ผู้แต่ง

  • ธนัชชา จันคณา
  • พิพัฒน์ ไทยอารี
  • ศิรภัสสรศ์ วงศ์ทองดี

คำสำคัญ:

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชีวิตหลังสถานการณ์โควิด 19

บทคัดย่อ

การวิจัยคุณภาพชีวิตของบุคลากรในหน่วยงานราชการที่มีผลมาจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 กรณีศึกษา : กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดต่อคุณภาพชีวิตของบุคลากรกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และเพื่อแสวงหาแนวทาง    ในการดำเนินการเพื่อกำหนดประเด็นเชิงนโยบายด้านคุณภาพชีวิตของบุคลากร                ในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ มีรูปแบบการวิจัยในเชิงสำรวจ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย ประชากรที่ใช้คือบุคลากรในสังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กำหนดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 260 คน

ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นบุคลากรในกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนมากเป็นเพศหญิง มีอายุอยู่ในช่วง 36 – 45 ปีมากที่สุด สถานภาพโสด ระดับการศึกษามากที่สุดคือปริญญาตรี รายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 15,000 – 17,999 บาท ประเภทบุคลากรมากที่สุดคือพนักงานจ้างเหมาบริการ ระยะเวลาในการปฏิบัติงานมากที่สุดคือมากกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ในด้านคุณภาพชีวิตของของบุคลากรในหน่วยงานราชการกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้นอยู่ในระดับที่ดีในทุกด้าน มีความพึงพอใจในสถานภาพของตนเอง สามารถจัดการชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวรวมถึงสถานภาพทางการเงินได้อย่างไม่เดือดร้อน

สำหรับคุณภาพชีวิตของของบุคลากรในหน่วยงานราชการกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้นอยู่ในระดับที่ดีในทุกด้านแต่ลดน้อยลงกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เริ่มมีการประกอบอาชีพอื่นนอกจากอาชีพหลัก นอกจากนี้ผลดีที่ตามมาคือการได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว มีเวลาในการพักผ่อน ดูแลตนเอง และพัฒนาตนเองมากขึ้น

ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะงานวิจัยในการที่องค์กรจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในสถานที่ทำงานในสถานการณ์โควิด 19  ต้องมีแนวทางในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของการมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีร่วมกัน และเกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานได้ ปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ ความสำเร็จของงาน การได้รับการยอมรับนับถือ ลักษณะงาน และความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน นอกจากนี้ปัจจัยค้ำจุน (Hygiene Factors) เป็นองค์ประกอบที่ไม่ใช่เกี่ยวกับตัวงานโดยตรง แต่มีความเกี่ยวโยงกับการปฏิบัติงานเป็นปัจจัยที่ไม่ใช่สิ่งจูงใจแต่ สามารถทำให้บุคลากรพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจที่จะปฏิบัติงานได้ ได้แก่ การบังคับบัญชา นโยบายบริหาร สภาพการทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา ความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ตำแหน่ง ความมั่นคงในงาน เงินเดือน และชีวิตส่วนตัว

Downloads

เผยแพร่แล้ว

01.09.2021