เยาวชนในสถาบันอุดมศึกษากับนโยบายโควิด-19ในประเทศไทย
คำสำคัญ:
เยาวขน, สถาบันการศึกษา, นโยบายโควิด-19ในประเทศไทยบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาทัศนคติของเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาต่อนโยบายโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณซึ่งใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากเยาวชนที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ จำนวน 1,385 คน และใช้สถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า (1) ทัศนคติต่อมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิค-19 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า มาตรการสวมหน้ากาก/Face Shield/ล้างมือของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิค-19 มีความสำคัญที่สุด (2) ทัศนคติในการสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ให้การสนับสนุนทุกนโยบายอยู่บ้าง (3) ทัศนคติต่อปัญหาอุปสรรคในการดำเนินนโยบายโควิด-19 ในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาหลักมาจากการที่ภาครัฐหละหลวมในการป้องกันการแพร่ระบาด (4) ทัศนคติต่อความจำเป็นของพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 ในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า พระราชกำหนดดังกล่าวไม่มีความจำเป็นในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 (5) ทัศนคติต่อในประเด็นความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม กับ สิทธิเสรีภาพของประชาชน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนมีสำคัญกว่าความมั่นคงปลอดภัยทางสังคมในการดำเนินนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 (6) ทัศนคติความพึงพอใจต่อความสำเร็จของนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ อยู่ในระดับน้อย และ (7) ทัศนคติของกลุ่มเป้าหมายในการประเมินความสำคัญของปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 ต่อการชุมนุมทางการเมือง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 เป็นอุปสรรคอยู่บ้างต่อการร่วมชุมนุมทางการเมือง