วัฒนธรรมการเมือง : กรณีศึกษาชุมชนชนบทในภาคกลาง

ผู้แต่ง

  • ณัฐวุฒิ เดชาประเสริฐ
  • วีระยุทธ ผุยพรหม

คำสำคัญ:

วัฒนธรรมการเมือง, ชุมชนชนบท, ภาคกลาง

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามิติวัฒนธรรมการเมืองของประชาชนที่มีต่อการเมืองท้องถิ่น  กรณีศึกษาชุมชนชนบทในภาคกลาง  การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเอกสารโดยใช้กรอบแนวความคิดมิติวัฒนธรรมการเมืองของ จรัส  สุวรรณมาลา (2550) ซึ่งปรับปรุงจาก Walter A. Rosenbaum (1975) กำหนดมิติวัฒนธรรมการเมือง  แล้วนำมาวิเคราะห์กับวัฒนธรรมการเมืองของชุมชนชนบทในภาคกลาง  ผลการวิจัยพบว่า มิติที่ 1 ประชาชนไว้วางใจสถาบันทางการเมืองและผู้นำในการบริหารจัดการงานด้านต่างๆของชุมชนชนบท  มิติที่ 2  ประชาชนให้ความสำคัญต่อสิทธิหน้าที่ที่ตนเองจะต้องทำ คือ การไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้คำนึงถึงการได้มาซึ่งตำแหน่งต่างๆทางการเมืองของผู้ลงสมัคร  มิติที่ 3 ประชาชนในชุมชนชนบทมีความผูกพันต่อสถาบันการเมืองที่อยู่กับชุมชนชนบทมาเป็นระยะเวลายาวนาน  มิติที่ 4  ประชาชนในชุมชนชนบทสามารถอยู่ร่วมกันได้  แต่จะเกิดปัญหาขึ้นในบางครั้งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง  เมื่อเหตุการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสงบลงประชาชนก็จะหันกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติเช่นเดิม  มิติที่ 5 ประชาชนในชุมชนชนบทมักใช้ความยืดหยุ่นจากผู้นำหรือสถาบันทางการเมืองในการต่อรองการกระทำความผิดของตนเอง  เพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิด  มิติที่ 6 ประชาชนในชุมชนชนบทเพิกเฉยต่อการดำเนินงานหรือปฏิบัติงานของสถาบันการเมืองแต่จะตระหนักถึงคุณค่าทางสถาบันการเมืองเมื่อยามที่ตนเองเดือดร้อนเท่านั้น  มิติที่ 7  ประชาชนในชุมชนชนบทไม่ได้ให้ความสำคัญในกระบวนการนโยบายสาธารณะต่างๆของสถาบันการเมืองเพราะขาดความรู้ความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูล จึงไม่กล้าที่จะแสดงความคิด ความเชื่อ ท่าทีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแก้ไขปัญหาสาธารณะ   ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนชนบทจึงมีส่วนสำคัญต่อการที่จะทำให้ชุมชนชนบทเกิดความมีส่วนร่วมทางการเมือง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30.12.2020