การก่อตัวของนโยบายสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย: ศึกษากรณีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12

ผู้แต่ง

  • กนกวรรณ หมื่นแก้ว
  • พิชญ์ บุษยบัณฑูร

คำสำคัญ:

สังคมผู้สูงอายุ, นโยบาย, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาถึงปัญหา และกระบวนการผลักดันนโยบายทางการเมือง 2) เพื่อศึกษาถึงบทบาทของเครือข่ายภาคประชาสังคมในการผลักดันนโยบาย การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ใช้การวิจัยเอกสาร โดยรวบรวมข้อมูลจาก เอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า กระแสปัญหา คือ โครงสร้างประชากรในช่วงปี พ.ศ. 2489 – 2507 ทำให้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2563 กระแสการเมือง คือ องค์การสหประชาชาติได้ตระหนักถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และประกาศให้ปี พ.ศ. 2542 เป็นปีสากลว่าด้วยผู้สูงอายุ กระแสนโยบาย คือ คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 ได้ประกาศให้การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและมีงานทำที่เหมาะสมไม่ก่อภาระต่อสังคมในอนาคต  เมื่อกระแสปัญหา กระแสนโยบาย และกระแสการเมืองบรรจบกันทำให้เกิดการเปิดของหน้าต่างนโยบาย อันนำไปสู่การก่อตัวของนโยบายสาธารณะภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ดังนี้ 1. การจัดทำแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศระยะ 20 ปี ในการเตรียมพร้อมรองรับแนวโน้มจำนวนประชากรสูงอายุที่จะมีเพิ่มมากขึ้นเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และ 2. การจัดทำแผนกลยุทธ์ กรมกิจการผู้สูงอายุ พ.ศ. 2560 – 2564

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30.12.2020