Editorial Note

Main Article Content

รัชนีกร ทองสุขดี

Abstract

วารสาร Sikkhana ฉบับที่ 8 (2562  กรกฎาคม- ธันวาคมยังเป็นการเปิดพื้นที่แสดงศักยภาพการเป็นนักวิจัยและนักวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาการศึกษาพิเศษ รหัส 60 ที่ลงเรียนกระบวนวิชาการใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาสำหรับบุคคลที่มีภาวะพิการซ้อน (070727) และ กระบวนวิชาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการศึกษาพิเศษ (070731) ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ที่ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงของครอบครัว และชุมชนที่มีบุคคลซ้อนรุนแรงที่ติดเตียงจำนวนมากที่อยู่ภายใต้การช่วยเหลือพื้นฟูสมรรถภาพด้วยพลังของคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกชุมชนตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่เกิดจากความรัก ความเข้าใจ การเปิดรับความรู้ และมีเจตคติเชิงบวก       


Sikkhana ฉบับนี้นำเสนอบทความวิชาการของนักศึกษากลุ่มข้างต้น 5 เรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของครอบครัวและชุมชนที่ห่างไกลในการช่วยเหลือลูกหลานที่มีความพิการซ้อนทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง โดยเฉพะอย่างยิ่งความรักที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ความไม่รู้ การขาดข้อมูลข่าวสาร ความเชื่อและวิถีชีวิตมีผลต่อคุณภาพชีวิตของแต่ละคนได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้ในพื้นที่จริง  ผู้เขียนสามารถนำมาพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนและเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าที่ครูการศึกษาพิเศษสามารถนำไปพัฒนาการทำงานกับครอบครัวและบุคคลพิการซ้อนในหน่วยงานของตนและยังเป็นยกระดับการศึกษาพิเศษไทยและ ตอกย้ำว่า “ผู้เรียนพิการทุกคนพัฒนาได้” และสามารถมีชีวิตอิสระได้ตามศักยภาพ


ส่วนท้ายของเล่มนำผู้อ่านเรียนรู้ผ่านหนังโดยวีระยุทธ  สุภารส เรื่อง Gifted ที่ฉายภาพให้เห็นชีวิตของแมรี่เด็กหญิงวัย 7 ขวบที่มีความอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ อาศัยอยู่กับแฟรงค์ ลุงที่ต้องการให้หลานสาวเรียนหนังสือเหมือนเพื่อนวัยเดียวกัน แต่ไม่พ้นสายตาของครูประจำชั้นที่ค้นพบความอัจฉริยะโดยบังเอิญ และความต้องการของย่าที่เคยคัดแย้งกับแม่ของแม่รี่จนเธอต้องหาทางออกโดยการจากโลกนี้ไปและทิ้งสูตรคณิตศาสตร์ไว้กับแฟรงค์และขอให้เลี้ยงดูแมรี่บนพื้นฐานความเป็น “ปกติ” มากที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจของแต่ละตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามตัดสินใจว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับแมรี่ ชื่อเสียงหรือความสุขของเด็กผู้หญิง 7 ขวบ


ปิดท้ายวารสารเล่มนี้พบกับ อภิชญา ศรีทอง แนะนำหนังสือ เรื่อง Angun@Japan ความหมาย ปลายทาง เขียนโดยสุดารัตน์ เทียรจักร หรือคุณองุ่น ที่เขียนประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดาในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเป็นครั้งแรกบนรถวีลแชร์ หลังจากประสบอุบัติเหตุเมื่อเธออายุ 13 ปี คุณองุ่นใช้เวลาในการพลิกฝันให้เป็นจริง โดยได้เลือก “โตเกียว” เป็นจุดหมายปลายทางโดย ปลายปากกาของคุณองุ่นทำให้เราเห็นวิธีคิด การวางเป้าหมาย และวิธีทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องเริ่มจากแรงขับภายในที่ส่งพลังงานออกไปทั่วทุกทิศทางให้สำเร็จ และหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นภาพของคำว่า “การใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพา หรือ การใช้ชีวิตอิสระของบุคคลพิการ” ที่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจมากนัก


กองบรรณาธิการ หวังว่า เนื้อหาในฉบับนี้จะมีส่วนในการสร้างการเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาครูก้าวไปสู่ครูมืออาชีพได้ในอนาคต ในฉบับหน้าจะเป็นการนำเสนอบทความวิจัยของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และบทความวิชาการนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาการศึกษาพิเศษที่ได้ลงทำงานในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรายอีกหลายเรื่องที่น่าติดตาม ต่อไป

Article Details

How to Cite
ทองสุขดี ร. . (2019). Editorial Note. Sikkhana, 7(8). Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/JSikkhana/article/view/240459
Section
Editorial Note