บทบรรณาธิการ

Main Article Content

รัชนีกร ทองสุขดี

Abstract

วารสาร Sikkhana  ฉบับที่ 7 (2562, มิถุนายน)  นี้เป็นฉบับเปิดพื้นที่แสดงศักยภาพการเป็นนักวิจัยและนักวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาการศึกษาพิเศษ รหัส 60 ที่ลงเรียนกระบวนวิชาการใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาสำหรับบุคคลที่มีภาวะพิการซ้อน (070727) และ กระบวนวิชาการมรส่วนร่วมของชุมชนในการศึกษาพิเศษ (070731) ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ที่ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงของครอบครัว และชุมชนที่มีบุคคลซ้อนรุนแรงที่ติดเตียงจำนวนมากที่อยู่ภายใต้การพื้นฟูสมรรถภาพด้วยพลังของคนในครอบครัวและคนชุมชนในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย      จังหวัดเชียงราย ที่เกิดจากความรัก การได้รับความรู้ และมีเจตคติเชิงบวก ทั้งนี้ผู้สร้างสรรค์บทความเป็นนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรครูการศึกษาพิเศษสังกัดศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดและโรงเรียนเฉพาะความพิการทั่วประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำงานงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาตนทางวิชาการด้านการจัดการศึกษาให้กับบุคคลพิการซ้อนทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย สอดรับกับนโยบายของวารสารที่จะเป็นเวที/พื้นที่ทางการศึกษา การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยน โดยให้น้ำหนักกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางการศึกษาพิเศษ ทั้งนี้พื้นที่ทางวิชาการและเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบวารสารวิชาการทางการศึกษาพิเศษที่ยังมีไม่มากในประเทศไทย


Sikkhana ฉบับนี้นำเสนอบทความวิชาการของนักศึกษากลุ่มข้างต้น 6 เรื่อง บทความวิชาการทั่วไป 1 เรื่อง และ บทความวิจัยอีก 3 เรื่อง บทความที่มาจากการลงพื้นที่ตำบลวาวีได้สะท้อนให้เห็นถึงบริบทของชุมชนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ความเชื่อภาษา วัฒนธรรม และวิถีชุมชนภายใต้ภูมิเศรษฐศาสตร์เฉพาะตัวที่อาจส่งผลถึงการดูแลบุตรหลานที่มีความพิการซ้อนรุนแรงได้ นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่อาจต้องปรับกลยุทธ์/กลวิธีเพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็งและให้การช่วยเหลือสนับสนุนให้บุคคลพิการซ้อนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตโดยพึ่งพาน้อยที่สุดอย่างยั่งยืน


ส่วนบทความวิชาการและบทความวิจัยอีก 4 บทความเป็นบทความส่งเสริม      การจัดการเรียนรวม การพัฒนาผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นโดยใช้ชุดกิจกรรม    การพัฒนาผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาด้วยพี่สอนน้อง และสุดท้ายเป็นการพัฒนาทักษะทางสังคมของนักศึกษาที่มีภาวะออทิซึมด้วยตัวแบบสัญลักษณ์ ทั้ง 4 บทความแสดงให้เห็นถึงแนวทางพัฒนาบุคคลพิการกลุ่มต่าง ๆ ได้เป็นผลสำเร็จและผลจากการวิจัยได้ตอกย้ำว่า “ผู้เรียนพิการทุกคนพัฒนาได้”


ส่วนท้ายของเล่มนำผู้อ่านเรียนรู้ผ่านหนังโดยวีรยา คำเรืองฤทธิ์ ที่พาผู้อ่านพบกับ อ๊อกกี้ และครอบครัวในหนังเรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ วันเดอร์ หรือ WONDER อ๊อกกี้เกิดมาพร้อมกับ Treacher Coins Syndrome ที่ส่งผลให้หน้าตาผิดรูปและต้องผ่าตัดมากกว่า 27 ครั้ง เพื่อให้สามารถหายใจ มองเห็น และได้ยินโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วย แต่ไม่อาจช่วยให้หน้าตาเหมือนคนทั่วไปได้ทั้งหมด ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวต่อสายตาสาธารณชนในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งแล้ว ที่ต้องยกย่องและกล่าวถึง คือพ่อ แม่ และพี่สาวที่รักอ๊อกกี้อย่างปราศจากเงื่อนไขที่เป็นกำลังใจและเป็นแฟนพันธุ์ตัวจริง ซึ่งวีรยา คำเรืองฤทธิ์สอดแทรกข้อเสนอแนะกว้าง ๆ ไว้ให้ครูในการช่วยเหลือผู้เรียนกลุ่มนี้ด้วย


กองบรรณาธิการ หวังว่า เนื้อหาในฉบับนี้จะมีส่วนในการสร้างการเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาครูก้าวไปสู่ครูมืออาชีพได้ในอนาคต ในฉบับหน้าจะเป็นการนำเสนอบทความวิชาการนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาการศึกษาพิเศษที่ได้ลงทำงานในพื้นที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายอีกหลายเรื่องที่น่าติดตาม ต่อไป

Article Details

How to Cite
ทองสุขดี ร. . (2019). บทบรรณาธิการ. Sikkhana, 6(7). Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/JSikkhana/article/view/240989
Section
Editorial Note