การศึกษาการจัดการสาธารณะโดยใช้กรณีศึกษา The Case Teaching Method for Public Management

Main Article Content

อิสระ สุวรรณบล
ศรรัฐ เฮงเจริญ

Abstract

บทนำ

โรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นสถาบันการศึกษาธุรกิจอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาโดยตลอด ได้นำกรณีศึกษามาใช้ในการศึกษามาตั้งแต่ต้น เพราะบรรดาอาจารย์ทั้งหลายเห็นพ้องกันว่าไม่มีตำราเรียนเล่มใดที่เหมาะสมกับการเรียนธุรกิจในระดับบัณฑิตศึกษา วิธีการแก้ปัญหานี้ คือ ส่งอาจารย์ไปสัมภาษณ์นักบริหารชั้นนำเพื่อทราบแนวการทำงานรวมทั้งการตัดสินใจกรณีต่างๆ แล้วนำมาเขียนโดยมีเป้าหมายการเรียนรู้ในแต่ละกรณีต่อจากนั้นนำมาใช้ทดสอบในห้องเรียน พร้อมกับเอกสารประกอบ เช่น เอกสารการเงินการบัญชี ประวัติผู้ที่เกี่ยวข้อง ลำดับเหตุการณ์ ฯลฯ ในระยะหลังมีการนำมัลติมีเดีย เช่น การสัมภาษณ์หรือวีดีทัศน์ต่างๆ ประกอบด้วย กับมีบันทึกการสอนผนวกมาด้วย ต่อจากนั้นก็พิมพ์รวมเล่มใช้ในการเรียนการสอนจริงๆ แนวการสอนโดยกรณีศึกษานี้ ต่อมาได้รับความนิยมทั่วโลก เมื่อเกือบสี่สิบปีก่อนวิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ที่เดลิมานได้พิมพ์หนังสือกรณีศึกษาเป็นครั้งแรกต่อมาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ของไทยก็พิมพ์ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความนิยม ผู้เขียนเคยนำมาสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2520 ผู้เขียนได้เขียนดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้แนวทางกรณีศึกษาเปรียบเทียบเช่น กรณีรถประจำทางสิงคโปร์กับ ขสมก. ซึ่งนำบริษัทเอกชนมาเป็นของรัฐในปีเดียวกัน ขณะที่ ขสมก. ขาดทุนมากมาย สิงคโปร์กลับสามารถคืนให้เอกชนและบริหารได้อย่างมีกำไร ขณะที่เปรียบเทียบการบินไทยกับสายการบินมาเลเซีย ช่วงนั้นการบินไทยดีกว่าของมาเลเซีย ส่วนสายการบินสิงคโปร์นั้นก้าวหน้ากว่ามาก สำหรับบริษัทน้ำมันเปอตามิน่าของอินโดนีเซียนั้นถูกแทรกแซงมากโดยนักการเมืองและทหารทำให้มีปัญหาในการบริหาร เมื่อเทียบกับ ปตท. ของไทย กรณีธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในช่วงที่ศึกษานั้นค่อนข้างมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะผู้นำ ทำให้ไม่อาจ
เปรียบเทียบกับธนาคารที่ดินแห่งฟิลิปปินส์ซึ่งมีบทบาทในการปฏิรูปที่ดิน ในการศึกษานั้นได้นำสาระมาวิเคราะห์เปรียบเทียบแล้วสร้างแนวคิดขึ้นมาเป็นแนวคิดเกี่ยวกับอิทธิพลทางการเมืองในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดทฤษฎีรัฐวิสาหกิจตะวันตก ดุษฎีนิพนธ์เล่มนั้นได้รับความสนใจและมีการอ้างอิงจากนักวิชาการทั่วโลก

Article Details

Section
บทความพิเศษ (Special Article)
Author Biography

ศรรัฐ เฮงเจริญ, มหาวิทยาลัยบูรพา

นายแพทย์ศรรัฐ เฮงเจริญ สูตินรีแพทย์