มุมมองและข้อสังเกตเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของประเทศไทยว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม
Main Article Content
Abstract
ประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เมื่อปี ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) ปัจจุบัน ILO มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 187 ประเทศ ได้ให้การรับรองอนุสัญญา (Conventions) ไว้ประมาณ 190 ฉบับ ซึ่ง ILO ไม่ได้บังคับให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาหรือข้อแนะทั้งหมด แต่ได้ขอให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามไม่น้อยกว่า 8 ฉบับ ซึ่งเรียกว่า อนุสัญญาหลัก (Core Conventions) อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน (Ratified) อนุสัญญาเพียง 19 ฉบับ โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องทั่วๆ ไป ทางด้านการคุ้มครองแรงงาน แต่ในเรื่องที่สำคัญ เช่น การรับรองสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรนายจ้าง-ลูกจ้าง การเจรจาต่อรอง หรือแม้แต่ในเรื่องความมั่นคงทางสังคม (มาตรฐานต่ำสุด) เช่น เรื่องประกันสังคม สวัสดิการสังคม และเรื่องการรักษาพยาบาล รวมถึงการดำรงไว้ซึ่งสิทธิในทางสังคม ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันไว้แต่อย่างใด
สาเหตุที่ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาของ ILO ไว้เพียง 19 ฉบับเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน อาจเป็นเพราะประเทศไทยมีกฎหมายภายในที่ดีและสอดคล้องกับอนุสัญญาของ ILO อยู่แล้วก็เป็นได้ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในอนุสัญญาฉบับที่ 102 ในเรื่องการประกันสังคมขั้นต่ำ กฎหมายประกันสังคมของไทยเรายังไม่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ในเรื่องสงเคราะห์ครอบครัวและสงเคราะห์การดำรงชีพผู้อยู่ในอุปการะ แต่การที่ประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาใดๆ กับ ILO จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อน เนื่องจาก ILO กำหนดขั้นตอนการให้สัตยาบันอนุสัญญาไว้อย่างเข้มงวด เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะต้องปฏิบัติตาม หรืออาจจะเป็นเพราะประเทศไทยเห็นว่ากฎหมายภายในที่มีอยู่แล้วนั้นมีความทันสมัยและครบถ้วน โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางสังคม อาจจะดีกว่ากฎหมายด้านความมั่นคงทางสังคมของ ILO ที่ออกมานานแล้ว เช่น อนุสัญญาฉบับที่ 102 ว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม และมาตรฐานขั้นต่ำเรื่องการประกันสังคมที่ออกมาตั้งแต่ปี 1952 อาจไม่ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวะของประเทศในปัจจุบัน
จากที่กล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะ 2 ประการ คือ ประการแรก ทบทวนอนุสัญญา 19 ฉบับที่ประเทศไทยให้สัตยาบันไว้แล้ว และปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ประการที่ 2 หากจำเป็นต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาใดๆ ในอนาคต ทางออกที่ดีที่สุดคือ รัฐควรเร่งแก้ไขปรับปรุง บทกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ โดยเฉพาะด้านแรงงานประกันสังคม สวัสดิการสังคม ให้เท่าเทียมหรือดีกว่าอนุสัญญาด้านความมั่นคงของสังคมของ ILO ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยได้ดำเนินการในเรื่องนี้ไปมากพอสมควรแล้ว
Article Details
References
ธีระ ศรีธรรมรักษ์. “อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศกับกฎหมายแรงงานไทย.” วารสารบทบัณฑิตย์ 62, 3 (2543).
. ประกันสังคมและสวัสดิการสังคม ILO. เอกสารประกอบการบรรยายวิชากฎหมายแรงงานกับปัญหาในกฎหมายแรงงาน. คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2562.
โสรญา พิกุลหอม. อนาคตของแรงงานประมงไทยภายใต้อนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ.2550. กรุงเทพมหานคร: สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562.