กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมของผู้กระทำความผิด
Main Article Content
Abstract
บทความวิจัยนี้กล่าวถึงกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมของผู้กระทำความผิดโดยศึกษาบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่ามีการสร้างข้อจำกัดหรือกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามใดเกี่ยวกับ ผู้เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือไม่ และมีการกำหนดไว้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งความสมเหตุผลของการบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวจากภูมิหลังและประวัติศาสตร์ของกฎหมาย และจากการศึกษาพบว่า ปัญหาที่ส่งผลต่อการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมของผู้พ้นโทษมีสาเหตุและปัจจัยมาจากปัญหาสามประการ กล่าวคือ ประการแรก ปัญหาการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาทซึ่งเป็นปัญหาหลักของระบบยุติธรรมทางอาญาไทย โดยกฎหมายหลายฉบับมีบทบัญญัติให้ลงโทษจำคุก ซึ่งการจำคุกอาจเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องปรามการกระทำความผิด แต่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมในระยะยาว ปัจจุบันประเทศไทยมีการสร้างระบบกฎหมายที่บรรจุบทลงโทษทางอาญาไว้หลายฉบับ โดยครอบคลุมถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง และไม่มีผลกระทบต่อสังคม แต่เป็นเรื่องของเอกชนด้วยกันเอง อาทิ ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งมีบทบัญญัติโทษด้วยวิธีการจำคุก เป็นมาตรการหนึ่งในการลงโทษ การออกแบบกฎหมายในลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลักของระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กล่าวคือ ส่งผลให้การดำเนินคดีอาญากลายเป็นกระบวนการหลักในระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อจำนวนคดีที่เข้าสู่ศาล และปริมาณนักโทษที่สูงขึ้น
ประการที่สอง การกำหนดให้การต้องโทษอาญาเป็นลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพโดยกฎหมายไทยในปัจจุบันกำหนดให้การต้องโทษทางอาญาด้วยการจำคุกเป็นลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพใน 3 รูปแบบที่สำคัญ ได้แก่ (1) เป็นลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพ และวิชาชีพ เช่น วิชาชีพบริการ วิชาชีพด้านการแพทย์และการพยาบาล หรือวิชาชีพเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น (2) เป็นลักษณะต้องห้ามการเป็นข้าราชการ ซึ่งรวมทั้งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตำรวจ อัยการและผู้พิพากษา รวมทั้งข้าราชการการเมือง และ (3) เป็นลักษณะต้องห้ามในการได้รับใบอนุญาตบางประเภท การกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามดังกล่าวในกฎหมายอาจมีความจำเป็นและเหตุผลของการตรากฎหมายที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ลักษณะการบัญญัติข้อห้ามในการประกอบอาชีพบางประเภทมีลักษณะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญ
ประการที่สาม ไม่มีกฎหมายหรือนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษมีงานที่ดีทำซึ่งส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการกลับไปใช้ชีวิตของผู้พ้นโทษ โดยปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรมและไม่มีมาตรการของรัฐที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการว่าจ้างผู้พ้นโทษในการเข้าทำงาน อาทิ มาตรการทางภาษี
Article Details
References
ชัชพล ไชยพร, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2562.
ธงชัย วินิจจะกูล. “นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรม.” ปาฐกถาพิเศษ ป๋วยอึ๊งภากรณ์. ครั้งที่ 17, 9 มีนาคม 2563.
ปวริศร เลิศธรรมเทวี. การประกันสิทธิทางรัฐธรรมนูญจากการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2563.
_______. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับระบบกฎหมายไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2561.
_______. ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2561.
_______. กฎหมายเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการยุติธรรม, 2562.
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: บพิธการพิมพ์, 2554.
วรเจตน์ ภาคีรัตน์. ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อ่าน, 2561.
ศักดา ธนิตกุล. คำอธิบายพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2553.
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, ปวริศร เลิศธรรมเทวี และทรงพล สงวนจิตร. “การวิเคราะห์กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในเชิงประจักษ์.” ในสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ. นิติศาสตร์ของระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2554.
สมคิด เลิศไพฑูรย์. “การสถาปนาหลักนิติธรรมขึ้นในระบบกฎหมายไทย.” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ 19, 55 (มกราคม-เมษายน 2560): 152-172.
แสวง บุญเฉลิมวิภาส และอติรุจ ตันบุญเจริญ. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2562.
Tallman, Marzone. Dictionary of Civics and Government. UK: Philosophical Library, 1953.
United Nations Office on Drugs and Crime. The Roadmap for the Development of Prison-based Rehabilitation Programmes. Vienna: United Nations Office on Drugs and Crime, 2017.
Wacks, Raymond. Philosophy of Law: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press, 2014.