ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ของพนักงานตรวจแรงงาน
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและอำนาจหน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงาน ศึกษาปัญหาการใช้อำนาจตามกฎหมายของพนักงานตรวจแรงงานในการออกคำสั่ง รวมถึงการใช้ดุลพินิจของพนักงานตรวจแรงงาน ศึกษาสิทธิของนายจ้างในการฟ้องศาลและการอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน และศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขกฎหมาย แนวทางเกี่ยวกับกระบวนการกลั่นกรองคำสั่งและการใช้ดุลพินิจของพนักงานตรวจแรงงานด้วยวิธีการศึกษาวิจัยเชิงเอกสารและเชิงปริมาณโดยใช้การออกแบบสอบถาม ผลการวิจัย พบว่า พนักงานตรวจแรงงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ) มีหน้าที่และอำนาจในการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายในด้านต่างๆ ที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ให้นายจ้างต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อมีการร้องเรียนของลูกจ้างในกรณีที่นายจ้าง ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมถึงกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ด้วย การออกคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดวิธีการเฉพาะไว้เกี่ยวกับการทบทวนคำสั่งทางปกครองในการออกคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างต้องจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามคำร้องของลูกจ้าง ตามมาตรา 125 และในการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 139 (3) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ส่วนคำสั่งอื่นๆ ที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้กำหนดวิธีการเฉพาะไว้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การทบทวนคำสั่งทางปกครอง มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
จากการศึกษา พบว่า วิธีการเฉพาะตามมาตรา 125 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย หากไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานมีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล และให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยนั้น เป็นปัญหาได้หากนายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้าง ในการประวิงคดีอาจก่อให้เกิดความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อการได้เงินตามสิทธิขอลูกจ้างหรือทายาทของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้ วิธีการเฉพาะตามมาตรา 139 (9) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้นายจ้างอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย โดยไม่ให้พนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่งได้มีโอกาสทบทวนคำสั่งนั้นได้เอง เป็นปัญหาต่อพนักงานตรวจแรงงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจในการออกคำสั่ง รวมถึงการใช้ดุลพินิจซึ่งหากได้มีโอกาสทบทวนและแก้ไขคำสั่งได้เช่นเดียวกับการทบทวนคำสั่งตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง จะมีความเหมาะสม และเป็นผลให้เจ้าหน้าที่ได้กลั่นกรองคำสั่งของตนเองก่อนที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ในฐานะผู้บังคับบัญชาของพนักงานตรวจแรงงานโดยตรง จากการศึกษาปัจจุบัน พบว่า นายจ้าง ลูกจ้าง และพนักงานตรวจแรงงานส่วนใหญ่มีความรู้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เห็นด้วยกับการออกคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน และเห็นด้วยกับการอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้มีการทบทวน รวมถึงเห็นด้วยหากในกระบวนการดำเนินการจะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ คือ ควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (แก้ไขเพิ่มเติมฯ) มาตรา 125 และมาตรา 141 ให้สอดคล้องกับการอุทธรณ์คำสั่งตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 44 โดยให้มีการอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไปยังพนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่ง และดำเนินการในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดไว้ หากพนักงานตรวจแรงงานไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว จึงให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายดำเนินการต่อไปในกรอบระยะเวลาของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเช่นเดียวกัน ในการนำคดีขึ้นสู่ศาลอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายนั้นเป็นอำนาจของศาลแรงงาน และควรจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของพนักงานตรวจแรงงานให้มากขึ้นด้วย
Article Details
References
กลุ่มงานนิติการและไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทสำนักงานประจำศาลแรงงานภาค 5. รวมกฎหมายแรงงาน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์พิมพ์อักษร, 2559.
กองคุ้มครองแรงงาน. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. กระทรวงแรงงาน. คู่มือการตรวจแรงงานฯ กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท, 2544.
ชาญชัย แสวงศักดิ์. กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2554.
ชาญชัย แสวงศักดิ์. คำอธิบายกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2540.
ปภาศรี บัวสวรรค์. คำอธิบายกฎหมายแรงงานและประกันสังคม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์-มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2561.
นิคม จันทรวิฑูร. “แรงงาน.” จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน 3, 25 (มิถุนายน 2536).
สิงห์ทอง บัวชุม. คำอธิบายกฎหมายปกครอง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บริษัท เดอะเบสท์ เซ็นเตอร์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด, 2551.
สมศักดิ์ สามัคคีธรรม. การสถาปนาอำนาจของผู้ไร้อำนาจ [Online]. Available URL: https:// saiiews.blogspot.com/2013/07/blog-post.html, 2564 (พฤษภาคม, 17).
สมยศ นาวีการ. การบริหารและพฤติกรรมองค์การ [Online]. Available URL: https://www. oocities.org/vinaip/articles/power.htm, 2564 (พฤษภาคม, 18).
สัก กอแสงเรือง และบุญทรง พฤกษาพงษ์. รวมคำบรรยายกฎหมายแรงงาน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2554.
สุดาศิริ วศวงศ์. คุ้มครองแรงงาน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2538.