คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ: ฟ้องให้หน่วยงานรัฐล้มละลายได้หรือไม่

Main Article Content

มณฑล อรรถบลยุคล

Abstract

            นิติบุคคลเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ได้ตามกฎหมาย เช่น เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ในมูลหนี้ต่าง ๆ เป็นเจ้าของหรือผู้ทรงทรัพยสิทธิในทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงเป็นผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดในคดีอาญา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนิติบุคคลเป็นการสมมติให้เป็นบุคคลตามกฎหมาย นิติบุคคลจึงมีสิทธิและหน้าที่ได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพของความเป็นบุคคลสมมติเท่านั้น ถ้าหากโดยสภาพแล้วสิทธิและหน้าที่ใดเป็นเรื่องที่นิติบุคคลไม่สามารถทำได้ นิติบุคคลย่อมไม่สามารถเป็นผู้ทรงสิทธิหรือเป็นผู้มีหน้าที่เช่นนั้นได้ เช่น การสมรส เป็นต้น


          ประเทศไทยกำหนดให้หน่วยงานรัฐต่าง ๆ เช่น กระทรวง, ทบวง, กรม, จังหวัด ฯลฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งการกำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นนิติบุคคลเช่นนี้แม้จะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและขจัดความสับสนในการบริหารราชการต่าง ๆ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาและความสับสนไม่น้อย


          ในคดีล้มละลาย (และคดีฟื้นฟูกิจการด้วย) นิติบุคคลสามารถเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เป็นเจ้าหนี้ และสามารถเป็นลูกหนี้ได้ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย นิติบุคคลนั้นอาจจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจนถึงกับถูกศาลสั่งให้ล้มละลายได้ ซึ่งจะทำให้นิติบุคคลนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


          ที่ผ่านมา มีหน่วยงานรัฐ (ทั้งที่เป็นส่วนราชการ, รัฐวิสาหกิจและองค์การของรัฐในรูปแบบอื่น) เป็นเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายเป็นจำนวนมาก แต่กรณีที่หน่วยงานรัฐถูกฟ้องให้ล้มละลายเพิ่งจะปรากฏเป็นครั้งแรกในคำพิพากษาฎีกาที่ 5969/2559 บทความนี้จะศึกษาคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวโดยเปรียบเทียบกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการของประเทศไทยและกฎหมายต่างประเทศประกอบ

Article Details

Section
บทความรับเชิญ (Invited Article)