ปัญหาการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าเฉพาะอย่างที่มีชื่อเหมือนหรือพ้องกัน: กรณีศึกษาสุราพิสโกในประเทศไทย

Main Article Content

เปมิกา รัตนกฤตยาณี
ปวริศร เลิศธรรมเทวี

Abstract

          งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัญหาการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าเฉพาะอย่างที่เหมือนหรือพ้องกันโดยมีกรณีศึกษา คือ กรณีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าสุราพิสโกที่มีแหล่งที่มาจากสาธารณรัฐเปรูและสาธารณรัฐชิลี เพื่อศึกษาค้นคว้ากฎหมายไทยและความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และแสวงหาแนวทางในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลหรือเป็นไปในเชิงกว้างยิ่งขึ้นภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง


          การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) ในประเทศไทยนั้น เป็นการให้ความคุ้มครองในรูปแบบกฎหมายเฉพาะ (sui generic) โดยการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2547 โดยได้แบ่งระดับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในระดับทั่วไปสำหรับสินค้าทั่วไป (General Protection) และการให้ความคุ้มครองในระดับพิเศษ (Special Protection) สำหรับสินค้าประเภทข้าว ไหม ไวน์และสุรา ตั้งแต่พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ฯ มีผลบังคับใช้นั้น ได้มีการขอรับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทั้งสินค้าภายในประเทศไทยและสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมทั้งกรณีของการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าสุราพิสโกด้วย


          จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และกรณีศึกษาดังกล่าวข้างต้นนั้น พบว่ากฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยนั้นสามารถให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เหมือนหรือพ้องกันได้ แต่สำหรับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่างประเทศนั้น มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าต้องเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายภายในของประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น รวมทั้งจะต้องเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่มีการใช้สืบเนื่องมาจนถึงวันยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทย เมื่อกฎหมายได้มีการกำหนดให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต้องพิสูจน์เรื่องการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่นำมาขอขึ้นทะเบียนอย่างสืบเนื่องแต่ไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่าการใช้สืบเนื่องมาจนถึงวันยื่นคำขอในประเทศไทย รวมถึงไม่ได้มีกำหนดว่าจะต้องเป็นการใช้ ณ ที่ใด ใช้โดยลักษณะ รูปแบบ หรือวิธีการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างไรนั้น กรณีดังกล่าวจึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ว่าผู้ขอขึ้นทะเบียนต้องพิสูจน์การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อย่างไรจึงจะเพียงพอให้รับฟังได้ว่าได้มีการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สืบเนื่องมาจนถึงวันยื่นคำขอในประเทศไทยแล้วอย่างแท้จริง ผู้ศึกษาจึงเสนอแนะให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนเกี่ยวกับการใช้สืบเนื่องมาจนถึงวันยื่นคำขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และควรมีการกำหนดว่าจะต้องเป็นการใช้ในรูปแบบหรือลักษณะใดถึงขนาดที่จะพิจารณาได้ว่าเพียงพอต่อการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทยได้ รวมถึงเห็นควรเสนอให้มีการวางแนวปฏิบัติ หรือแนวทางการตีความเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติในการพิจารณาเกี่ยวกับการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาเป็นระยะเวลา 10 ปี ติดต่อกันก่อนวันที่ 15 เมษายน 2537 หรือเป็นการใช้โดยสุจริตก่อนวันดังกล่าวตามมาตรา 28 วรรคท้าย

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)

References

ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) [Online]. Available URL: http://tuipi.tu.ac.th/tuip 06.php, 2565 (ตุลาคม, 28).

Lertdhamtewe, Pawarit “The Protection of Geographical Indications in Thailand.” The Journal of World Intellectual Property 17, 4 (August 2014): 114-128.

พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546.

กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดรายชื่อประเภทสินค้าเฉพาะอย่างและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เหมือนหรือพ้องกัน พ.ศ. 2547.

กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียน การประกาศโฆษณาการคัดค้านและการโต้แย้งคำคัดค้าน การขึ้นทะเบียน การอุทธรณ์ และการแก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2547.

ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ PISCO (พิสโก)

คำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เลขที่ 0001.

คำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เลขที่ 50200030.

คำวินิจฉัยนายทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เลขที่ 50200030.

ประกาศโฆษณาขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์พิสโก ชิลี (PISCO CHILE).

ประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ PISCO CHILE (พิสโก ชิลี) คำขอเลขที่ 5200030.

Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights in Marrakesh Agreement Establishing the World Trade Organization, opened for signature 14 April 1994, 1869 UNTS 229 (entered into force 1 January 1995) annex 1C (“TRIPS Agreement).

Marrakesh Agreement Establishing the World Trade Organization, opened for signature 15 April 1994, 190 UNTS 2 (entered into force 1 January 1995) (“WTO Agreement”).