การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแพ่งสำหรับคดีซื้อขายออนไลน์
Main Article Content
Abstract
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแพ่งสำหรับคดีซื้อขายออนไลน์การติดต่อสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในยุคปัจจุบันนั้นเป็นที่แพร่หล่ายเป็นอย่างมาก ทำให้การซื้อขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จึงทำให้การเกิดข้อพิพาทในการซื้อขายออนไลน์มีสูงตามไปด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ศาลยุติธรรมจึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสำหรับการดำเนินคดีซื้อขายออนไลน์ในการอำนวยประโยชน์แห่งความยุติธรรม เพื่อให้บุคคลทุกคนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมง่ายขึ้น ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ได้รับการชดเชย การเยียวยาอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดข้อพิพาทจากการซื้อขายออนไลน์ ในการนี้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมจึงได้มีมติจัดตั้ง “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง” เพื่อรองรับปัญหาข้อพิพาทอันเกิดจากการซื้อขายออนไลน์ และได้มีการออกประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่งเพื่อดำเนินการระงับข้อพิพาทในเรื่องการซื้อขายออนไลน์โดยเฉพาะ โดยมีการดำเนินกระบวนพิจารณาประกอบกับข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ในคดีซื้อขายออนไลน์
เขตอำนาจของศาลแพ่งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์นั้นสามารถรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งได้ทั่วราชอาณาจักรไม่ว่าคดีนั้นจะเกิดในเขตหรือนอกเขตของศาลแพ่ง หรือคดีที่เกิดในศาลแขวงซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตของศาลแพ่งก็ตาม เพื่อเป็นช่องทางอำนายความสะดวกแก่ประชาชนทั่วไป โดยคดีที่อยู่ในอำนาจของแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่งนี้ครอบคลุมถึงเฉพาะคดีผู้บริโภค หมายความว่าฝ่ายหนึ่งของคู่สัญญาต้องเป็นผู้บริโภคและอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้ประกอบการเท่านั้น ซึ่งการทำสัญญาดังกล่าวจะต้องเป็นการทำสัญญาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยแม้ชื่อของแผนกจะใช้ชื่อว่าคดี “ซื้อขาย” ออนไลน์ แต่หากดูในคำนิยามคำว่า “ซื้อ” หรือ คำว่า “ขาย” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ประกอบด้วย โดยคำนิยามมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึง การเช่า การเช่าซื้อ หรือได้มาหรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ด้วยเหตุนี้อำนาจของแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่งจึงครอบคลุมไปถึงการซื้อขายและการให้บริการต่างๆบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วย อีกทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาในแผนกคดีซื้อขายออนไลน์นี้จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การยื่นคำฟ้องผ่านระบบ e-Filling การส่งหมายเรียกและเอกสารต่าง ๆ ตลอดไปถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบ Google Meet รวมทั้งการทำคำพิพากษาที่จะต้องทำในรูปแบบของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
พรพรหม อินทรัมพรรย์. พระธรรมนูญศาลยุติธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2561.
ไพโรจน์ วายุภาพ. คำอธิบายระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2562.
เอื้อน ขุนแก้ว. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: บริษัท กรุงสยาม พับลิชชิ่ง จำกัด, 2562.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง.
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม.
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551.
ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ในคดีซื้อขายออนไลน์.
ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์.
ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง.
ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563.
คำพิพากษาฎีกาที่ 2115/2523 (ประชุมใหญ่).
คำพิพากษาฎีกาที่ 6890/2537.
คำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ที่ 259/2553.
คำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ที่ 379/2555.
คำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ที่ 82/2553.
คำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ที่ 185/2558.