ตำแหน่งทางศาสนา: การสร้างความหมายใหม่ในสังคมไทใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

Authors

  • ธรรศ ศรีรัตนบัลล์

Keywords:

ตำแหน่งทางศาสนา, ไทใหญ่

Abstract

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตำแหน่งทางศาสนานำหน้าชื่อของคนไทใหญ่ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความหมายใหม่ภายใต้บริบททางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเน้นการศึกษาในช่วงทศวรรษ 2540–2560 พื้นที่ศึกษาได้แก่ ชุมชน
ไทใหญ่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผลการศึกษาพบว่า ในยุคจารีต สังคมไทใหญ่ได้สร้างระบบตำแหน่งทางศาสนาขึ้น เพื่อใช้กำหนดสถานภาพและบทบาทของสมาชิกในสังคม ตำแหน่งทางศาสนาจะถูกใช้นำหน้าชื่อ สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการบวช ตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการถวายวัตถุทาน และตำแหน่งทางศาสนาที่ได้รับจากการทำหน้าที่ทางศาสนา นอกจากนี้ ยังพบว่าตำแหน่งทางศาสนาถูกใช้เป็นกลไกในการสร้างเครือข่ายทางสังคมของชาวไทใหญ่ อาทิ เครือข่ายทางการค้า เครือข่ายแรงงานในภาคการเกษตร โดยระบบตำแหน่งทางศาสนาที่ใช้นำหน้าชื่อถูกใช้อย่างเคร่งครัดและมีแบบแผน เป็นที่ยอมรับในสังคมไทใหญ่และเป็นที่รับรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น กล่าวได้ว่า “ชื่อ” ที่นำหน้าด้วยตำแหน่งทางศาสนาเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ในยุคจารีต อย่างไรก็ดี ระบบตำแหน่งทางศาสนาถูกลดความสำคัญลงเมื่อโลกทางศาสนาที่เคยมีบทบาทถูกแทนที่ด้วยการเกิดขึ้นของรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่ และการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา กระแสท้องถิ่นนิยมที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดส่งผลให้คน
ไทใหญ่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พยายามรื้อฟื้นการใช้ตำแหน่งทางศาสนานำหน้าชื่อ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าการนำตำแหน่งทางศาสนาที่นำหน้าชื่อกลับมาใช้ใหม่มีการให้ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ตำแหน่งทางศาสนาที่ใช้นำหน้าชื่อ ไม่ได้มีความหมายและความสำคัญต่อการกำหนดสถานภาพ หรือระบบควบคุมทางสังคมดังเช่นในอดีต แต่ถูกเลือกนำมาสร้างความหมายใหม่เพื่อนำเสนอความเป็นไทใหญ่ผ่านพื้นที่ทางวัฒนธรรม ตำแหน่งทางศาสนาจะถูกนำมาใช้เฉพาะในพื้นที่และช่วงเวลาของการประกอบพิธีกรรม และการเลือกใช้ตำแหน่งทางศาสนานำหน้าชื่อ
จะเกิดขึ้นในกรณีที่บุคคลนั้นไม่มีตำแหน่งหรือสถานภาพที่เชื่อมโยงกับรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นความหมายของตำแหน่งทางศาสนาที่สัมพันธ์กับความเชื่อของชาวไทใหญ่ที่มีมาแต่เดิมได้แปรเปลี่ยนไป เช่น การให้ความสำคัญกับการอุปสมบทพระภิกษุมากกว่าการบรรพชาสามเณร ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความเชื่อจากรัฐไทย ดังกล่าวมาสะท้อนให้เห็นการสร้างความหมายใหม่ของตำแหน่งทางศาสนา ที่เกิดจากการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ในปัจจุบันสังคมภายนอกไม่ได้รับรู้ความเป็นไทใหญ่ผ่านตำแหน่งทางศาสนาที่ใช้นำหน้าชื่อ แต่รับรู้ผ่านการสร้างและนำเสนออัตลักษณ์
ในรูปแบบอื่น

Downloads

Published

2017-12-29

Issue

Section

บทความวิจัย