ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายไทยเพื่อควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน
Keywords:
ประสิทธิภาพ, การบังคับใช้กฎหมาย, การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน, พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, มาตรการลงโทษทางแพ่งAbstract
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน ในช่วง 10 ปี (พ.ศ. 2550–2559) โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงคดีที่เกิดขึ้น (2) ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน ในช่วง 10 ปีดังกล่าว กับแนวโน้มประสิทธิภาพของกฎหมายหลังแก้ไข (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2559) โดยพิจารณาจากทัศนคติของบุคคล กฎหมายในขอบเขตของการศึกษา ได้แก่ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก่อนแก้ไข (“กฎหมายเดิมก่อนแก้ไข”) และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 (“กฎหมายหลังแก้ไข”)
วิธีการวิจัยเป็นเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์ ผลการศึกษาพบว่า (1) กฎหมายที่ใช้ควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในฉบับเดิมก่อนแก้ไข พิจารณาจากข้อเท็จจริงคดีในช่วง 10 ปี มีประสิทธิภาพของการบังคับใช้อยู่ในระดับน้อย เพราะใช้ระยะเวลาในการดำเนินคดีนาน ส่วนแนวโน้มของจำนวนคดีและผู้ถูกกล่าวหาที่เพิ่มขึ้น ยังไม่อาจชี้วัดประสิทธิภาพของกฎหมายได้ชัดเจนนัก (2) กฎหมายเดิม
ก่อนแก้ไข ในทัศนคติของผู้ถูกสัมภาษณ์ที่เป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปและนักลงทุน มีประสิทธิภาพของ
การบังคับใช้อยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ขณะที่กฎหมายหลังแก้ไขมีแนวโน้มประสิทธิภาพของ
การบังคับใช้อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก สำหรับผู้ถูกสัมภาษณ์ที่เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย เห็นว่ากฎหมายเดิมก่อนแก้ไขมีประสิทธิภาพของการบังคับใช้ในระดับปานกลางถึงมาก ขณะที่กฎหมายหลังแก้ไขมีแนวโน้มประสิทธิภาพของการบังคับใช้อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ผู้ถูกสัมภาษณ์เห็นพ้องกันว่า กฎหมายหลังแก้ไขครอบคลุมผู้กระทำผิดกว้างขึ้น ชัดเจนขึ้น และมีบทสันนิษฐานผู้รู้/ผู้ครอบครองข้อมูลภายใน
ทำให้การดำเนินคดีน่าจะง่ายขึ้น เร็วขึ้น ประกอบกับมีการเพิ่มบทลงโทษและทางเลือกมาตรการลงโทษทางแพ่ง ผลการศึกษาสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย พิจารณาได้จากความรวดเร็วในกระบวนการดำเนินคดี และความเหมาะสมของบทลงโทษกับประเภทและลักษณะของความผิด