วาทวิพากษ์: ค่านิยม มายาคติ และอุดมการณ์ที่ปรากฏ ในหนังสือ “วรรคทองในวรรณคดีไทย”
Keywords:
Rhetorical Criticism, The Royal Institute, Thai Values, Thai IdeologiesAbstract
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาค่านิยม มายาคติ และอุดมการณ์ในงานเขียนซึ่งราชบัณฑิตยสถานรวบรวมไว้ในหนังสือชื่อ “วรรคทองในวรรณคดีไทย” โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยด้วยการวิพากษ์ตัวบทแนวค่านิยม-มายาคติและแนวอุดมการณ์ จากกลุ่มตัวอย่าง คือ วรรคทอง 602 วรรค ซึ่งคัดเลือกจากงานเขียนที่ราชบัณฑิตยสถานรวบรวมไว้ในหนังสือ “วรรคทองในวรรณคดีไทย” จำนวน 89 เรื่อง
ในหนังสือ “วรรคทองในวรรณคดีไทย” ผลการวิจัยได้นำเสนอ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ประเด็นที่หนึ่ง พบว่า มีการนำเสนอค่านิยม 10 ชุด ได้แก่ (1) การให้ความสำคัญกับตัวเองหรือบุคคล (2) ความสัมพันธ์และคุณธรรมทางสังคม (3) พุทธศาสนา (4) อำนาจนิยม (5) ความสนุกสนาน (6) การปรับตัวเข้ากับโอกาสและสิ่งแวดล้อม (7) ความมั่งคั่งร่ำรวย (8) การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (9) ภาระบุญคุณ และ (10) การมีความรู้ความสามารถ ประเด็นที่สอง พบว่า มีการนำเสนอเรื่องมายาคติ 4 ประเภท ได้แก่ (1) มายาคติเกี่ยวกับสังคม (2) มายาคติเกี่ยวกับจักรวาลและชีวิต (3) มายาคติเกี่ยวกับอัตลักษณ์ และ (4) มายาคติเกี่ยวกับจุดสิ้นสุดของชีวิต และประเด็นที่สาม พบว่า มีอุดมการณ์ที่ปรากฏในหนังสือ 8 มิติ ได้แก่ (1) พุทธศาสนา (2) ชายเป็นใหญ่ (3) ศักดินา (4) อำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ (5) ราชาธิปไตย (6) ทุนนิยมและวัตถุนิยม (7) ประชาธิปไตย และ (8) ชาตินิยม
สำหรับผลการวิพากษ์ตัวบทแนวค่านิยม-มายาคติ พบว่า มีค่านิยมการให้ความสาคัญกับตัวเองหรือบุคคลมากที่สุด (ร้อยละ 85.4) และค่านิยมการมีความรู้ความสามารถน้อยที่สุด (ร้อยละ 26.9) นอกจากนี้ยังมีมายาคติเกี่ยวกับสังคมในส่วนเนื้อหาทั่วไป (อำนาจและผู้มีอำนาจ ความสำคัญของสถานะ ชาตินิยมความเป็นไทย และอื่น ๆ) มากที่สุด (ร้อยละ 69.7) และมายาคติเกี่ยวกับจุดสิ้นสุดของชีวิต (คติเรื่องผี วิญญาณ และความตาย) น้อยที่สุด (ร้อยละ 25.8) โดยเมื่อทำการวิพากษ์ตัวบทแนวอุดมการณ์พบว่ามีอุดมการณ์พุทธศาสนามากที่สุด (ร้อยละ 62.9) และอุดมการณ์ชาตินิยมน้อยที่สุด (ร้อยละ 29.2)