ความหมายและแนวทางการศึกษาความปลอดภัยสาธารณะ
Keywords:
Safe, Public safety, CommunityAbstract
ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือมีคุณภาพในการดำรงชีวิตที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า พวกเขาเหล่านั้นมีสิทธิที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด โดยหนึ่งในทางเลือกที่พวกเขาควรได้รับ คือ การดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปลอดภัย ปราศจากภัยอันตราย ยิ่งในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีการดำรงชีวิตที่สลับซับซ้อนมากขึ้นด้วย มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงทำให้หลายคนฉกฉวยโอกาสเหล่านี้ในการกระทำผิดในรูปแบบต่าง ๆ ที่แยบยลตามมาด้วย อย่างไรก็ดี ในการศึกษาถึงความหมายของความปลอดภัยสาธารณะในประเทศไทยเบื้องต้น พบว่า ยังไม่มีการให้คำจำกัดความที่แน่ชัดจากหน่วยงานใดกระทั่งการให้ความหมายที่ผ่านมาอาศัยการตีความตามนัยเชิงกฎหมายและแนวคิดอาชญาวิทยา แต่ทว่า ความปลอดภัยจากอาชญากรรมเป็นภาวะในเชิงอัตวิสัยที่สัมพันธ์และแปรผันไปตามการรับรู้ตลอดจนประสบการณ์ในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมของแต่ละบุคคลด้วย
ด้วยเหตุนี้ บทความนี้มุ่งอธิบายผลการวิจัยในประเด็นความหมายของความปลอดภัยสาธารณะ รูปแบบของการเกิดอาชญากรรม มิติ/มุมมองว่าด้วยความปลอดภัยสาธารณะและอาชญากรรมในมิติต่าง ๆ ผ่านวิธีการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Documentary Research) ครอบคลุมทั้งงานวิจัยในไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาสู่การพัฒนาแนวทาง/วิธีการศึกษาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับประเทศไทย
ผลการศึกษา พบว่า ความรู้สึกปลอดภัยและความรู้สึกเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ อาทิ ลักษณะทางประชากร, ลักษณะของชุมชน, สภาพแวดล้อมโดยรอบ, เขตที่อยู่อาศัย ลักษณะที่อยู่อาศัย, ช่องทางการรับรู้ข่าวอาชญากรรมและประสบการณ์การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม อย่างไรก็ดีผลจากการศึกษา ทำให้พบข้อจำกัดประการสำคัญ คือ การขาดเครื่องมือในการสำรวจความหวาดกลัวอาชญากรรมที่เหมาะสมและต่อเนื่อง เพื่อวัดระดับอาชญากรรมที่มาจากพื้นที่ (Base area) ตลอดจนแนวทางการป้องกันความเสี่ยงต่ออาชญากรรมแต่ละรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น หากสามารถพัฒนาเครื่องมือสำรวจตลอดจนวิธีการศึกษาศึกษาที่เน้นข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อสะท้อนระดับความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ได้ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะนำมาซึ่งการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการดูแลความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสม