การศึกษาผลลัพธ์ทางสังคมกับทัศนคติต่อการทำงานร่วมกับคนพิการ: กรณีศึกษาที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรา 33 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 กับทัศนคติของพนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
Keywords:
การวัดผลกระทบของกฎหมาย, กฎหมายส่งเสริมคนพิการ, การวัดผลลัพธ์ทางสังคมAbstract
การศึกษานี้ได้พัฒนากระบวนการวัดผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการบังคับมาตรา 33 ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเพื่อนร่วมงานหรือพนักงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จากการศึกษา พบว่า การจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการอาจมีส่วนทำให้พนักงานมีทัศนคติต่อการทำงานของคนพิการในทางที่ดี โดยไม่ได้มองว่าคนพิการเป็นภาระในการทำงานร่วมกัน และสร้างแนวคิดความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน (ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) ในการส่งเสริมให้คนพิการสามารถพึ่งตนเองได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มพนักงานที่ไม่เคยทำงานร่วมกับคนพิการเลย อย่างไรก็ตาม ในประเด็นทัศนคติต่อการช่วยเหลือคนพิการนั้น พบว่า การจ้างงานตามมาตรา 33 ไม่ได้เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติใด ๆ แต่เมื่อพิจารณาถึงคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มข้อคำถามดังกล่าว พบว่า คะแนนเฉลี่ยของข้อคำถามเหล่านั้นอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นทัศนคติที่ดีต่อคนพิการอยู่แล้ว การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแนวคิดการวัดผลลัพธ์ทางสังคมสามารถนำมาปรับใช้กับการวัดผลลัพธ์ทางสังคมของกฎหมายได้ โดยวิธีการวัดผลลัพธ์ทางสังคมนี้จะช่วยให้ผู้ร่างและปรับปรุงกฎหมายสามารถเห็นผลกระทบได้โดยเร็ว และยุ่งยากน้อยกว่าการวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมายวิธีอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม อาจไม่ครอบคลุมเท่า แต่การวัดผลลัพธ์ในแนวคิดนี้มุ่งเน้นการกำหนดกรอบการวัดผลลัพธ์ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายมากที่สุด และเน้นพิสูจน์ให้เห็นผลตามวัตถุประสงค์ตั้งต้นได้รวดเร็วและตรงจุดมากกว่า