กระบวนการโบราณคดีชุมชนกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการปกป้องมรดกทางโบราณคดีที่ดอยเวียงและดอยวง ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

Authors

  • ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา

Keywords:

ดอยไหดินสมัยก่อนประวัติศาสตร์, มรดกทางโบราณคดีของชุมชน, การลดความขัดแย้งในชุมชน, การปกป้องมรดกทางโบราณคดีของชุมชน

Abstract

          เมื่อปี 2553 ที่บ้านเหล่าพัฒนา ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับนายทุนผู้มีอิทธิพลที่เข้าไปซื้อและออกโฉนดที่ดินในพื้นที่แหล่งโบราณคดีดอยเวียงซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีคูและกำแพงคันดินล้อมรอบ ชาวบ้านและพระสงฆ์ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย พยายามต่อต้านและขัดขวางการออกโฉนดพื้นที่แหล่งโบราณคดี แต่ในระยะแรก ๆ สู้นายทุนไม่ได้ เสียเปรียบตลอดเพราะข้าราชการเอาด้วยกับนายทุน เกิดการเผชิญหน้าแบบไม่ยอมกัน ข้าพเจ้าได้เอากระบวนการโบราณคดีชุมชนเข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหา โดยร่วมกับพระสงฆ์และชาวบ้านสำรวจศึกษาแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่เป็นสุสานไหดินหลายร้อยใบที่ดอยวงซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน และขอให้นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่เชียงใหม่ไปช่วยชาวบ้านขุดค้นศึกษาอย่างเป็นระบบ แนะนำให้ชาวบ้านพัฒนาเป็นแหล่งมรดกชุมชนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ชาวบ้านได้แหล่งมรดกวัฒนธรรมใหม่ มีพื้นที่ส่วนกลางใหม่ของชุมชน สร้างกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้และธรรมชาติ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชน มีหน่วยงาน วัด สถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ เข้าไปทำกิจกรรมการพัฒนาทางกายภาพและจิตวิญญาณในพื้นที่มากมาย ชาวบ้านเลิกทะเลาะแบบเผชิญหน้ากับนายทุน แต่พยายามสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติด้วยตัวเองจนสามารถนำผลงานออกไปเผยแพร่ในเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างน่าชื่นชม ในขณะที่นายทุนก็เอาผลงานการค้นพบแหล่งมรดกวัฒนธรรมของชาวบ้านไปโฆษณาขายที่ดินแบบหน้าไม่อาย แต่ก็ขายที่ดินไม่ได้ และทางราชการไม่ออกเอกสารสิทธิ์ใด ๆ สำหรับที่ดินบริเวณแหล่งโบราณคดีดอยเวียงให้นายทุน

Downloads

Published

2019-12-26

Issue

Section

บทความวิจัย