สังคมเรือนจำจากปากคำนักศึกษาผู้ต้องหาคดีการเมือง

Authors

  • Panusaya Sithijirawattanakul

Keywords:

jail, political cases

Abstract

คุกไทยเป็นสถานที่อันไม่น่าพึงประสงค์สำหรับคนทั่วไปที่ไม่คิดและไม่เคยกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง แต่ถึงคุณจะเป็นผู้ที่กระทำความผิด คุกไทยก็ไม่ใช่ที่ที่คุณจะอยากก้าวย่างเข้าไปเช่นกัน คุกในทัศนะของผู้คนในประเทศไทยมักจะมองว่าเป็นสถานที่แห่งความโหดร้าย การลงโทษ ความมืดมนและความสกปรก เนื่องจากเป็นสถานที่กักขังผู้ซึ่งกระทำความผิดตั้งแต่ความผิดเล็กน้อยไปจนถึงอาชญากรรม ซึ่งในความเป็นจริงนั้นหากมองด้วยแว่นตาของคนทั่วไปก็
อาจจะไม่ผิดอะไรนัก แต่หากเรามองด้วยแว่นของผู้ใกล้ชิด ครอบครัวของนักโทษ หรือด้วยสายตาของนักโทษเอง คุกไม่ควรเป็นสถานที่แบบนั้น
ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ย่อมสร้างการกระทำและมีพฤติกรรมเป็นส่วนของปัจเจก แต่ความเป็นปัจเจกนั้นก็จะถูกสร้างและหล่อหลอมมาจากสังคมเสมอ เช่นนั้นแล้วเราจะพูดได้ไหมว่าคนเราทำผิด เพราะสังคมบังคับหรือเป็นปัจจัยให้เรากระทำความผิดบรรยากาศในคุกไทย (ในที่นี้จะกล่าวถึงแค่ทัณฑสถานหญิงกลางที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ด้วย) หากจะจินตนาการภาพและบรรยากาศในนั้น ให้ลองนึกถึงค่ายลูกเสือขนาดใหญ่ที่แต่มีคนวัยหลากหลายตั้งแต่อายุ 18-60 ปีขึ้นไปอยู่รวมกันราว 4,000 คน ไม่มีพื้นที่เป็นลานกว้างเพราะมีคนแออัดอยู่เต็มพื้นที่ ห้องน้ำที่เปิดโล่งจนเห็นทุกอย่าง การอาบน้ำแบบเอาน้ำสาด ๆ ไปเพราะอาบยังไงก็ไม่สะอาดถ้าคุณไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ชนในนั้น อาหารถาดหลุมที่เพียงแค่มองก็รู้แล้วว่าไม่มีรสชาติ การถูกข่มด้วยอำนาจของเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยผู้คุมซึ่งก็เป็นนักโทษเหมือนกันแต่มาข่มนักโทษด้วยกันอีกที หากอยู่บนห้องขังก็ให้นึกภาพกรงที่เอาคนไปยัดรวมกันจนไม่เหลือพื้นที่ให้เดิน และเหนือสิ่งอื่นใดคืออิสรภาพที่ไม่มีอยู่จริง หากคุณพอจะจินตนาการได้นั่นแหละคือคุก
สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสร้างเสริมหรือบั่นทอนพฤติกรรมของมนุษย์ ยิ่งในคุกที่คนคาดหวังว่าจะทำให้นักโทษกลับมาเป็นคนดีของสังคม เลิกทำผิดกฎหมาย และไม่ออกมากระทำความผิดซ้ำอีก สภาพสังคมในคุกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความคาดหวังนั้นเป็นจริงได้รวมถึงจำเป็นต้องมีกระบวนการอบรมและฟื้นฟูนักโทษที่ได้ผลจริง แต่จะทำอย่างไรให้นักโทษเปิดใจรับกระบวนการฟื้นฟูที่ทางราชทัณฑ์จัดให้กับพวกเขา และจะรู้ได้อย่างไรว่ากระบวนการนั้นได้ผลจริง การวิจัยเชิงสำรวจจะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่

References

-

Downloads

Published

2021-12-20

Issue

Section

บทความวิจัย