ความพร้อมของแรงงานนอกระบบในประเทศไทยกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ

Authors

  • พรทิพย์ เนติภารัตนกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Abstract

บทความวิจัยนี้ผู้เขียนมุ่งนำเสนอผลการวิจัยในประเด็นที่ว่าด้วยความพร้อมของแรงงานนอกระบบก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพและที่อยู่อาศัย ตลอดจนนำเสนอข้อเสนอต่อการเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานนอกระบบอันเป็นผลสืบเนื่องที่ได้จากการวิจัยบทความวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องความพร้อมของแรงงานนอกระบบกับการเป็นสังคมสูงอายุในประเทศไทย โดยมีพื้นฐานความคิดที่ว่าภายใต้โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงอายุ แรงงานนอกระบบยังขาดซึ่งสวัสดิการความคุ้มครองดูแลที่เหมาะสมและเพียงพอเท่าที่ควร แม้จะมีความพยายามทำให้แรงงานนอกระบบเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายและทางสังคมจากรัฐผ่านระบบการประกันสังคมแต่ยังไม่เป็นผลงานวิจัยจึงมีวัตถุประสงค์ศึกษาความพร้อมหรือไม่พร้อมในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และที่อยู่อาศัยก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุจากแรงงานนอกระบบที่มีอายุระหว่าง 40-59 ปี

โดยอาศัยวิธีวิจัยเชิงเอกสารสืบค้นวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเพื่อใช้เป็นฐานในการทำความเข้าใจการเตรียมความพร้อม วิธีวิจัยเชิงสำรวจสอบถามความพร้อมของแรงงานนอกระบบและวิธีวิจัยเชิงคุณภาพจัดประชุมกลุ่มย่อยสะท้อนมิติในเชิงลึกผลการศึกษาค้นคว้าพบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีความพร้อมในมิติทางสังคมอย่างมากไม่ว่าจะเป็นด้านการเตรียมรับบทบาทและสถานภาพประกอบเปลี่ยนแปลงไป การเข้าร่วมกิจกรรมต่างทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม ด้านสวัสดิการสังคม ในแง่ของการศึกษาและเป็นสมาชิกกลุ่มในชุมชนและด้านการใช้เวลาว่างและงานอดิเรก ในด้านสุขภาพแรงงานนอกระบบก็มีความพร้อมอย่างมากเช่นเดียวกันทั้งในด้านการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจต่อการเป็นผู้สูงอายุ การพยายามพึ่งพาตนเอง และติดตามข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพเป็นประจำ อย่างไรก็ตามมิติทางเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย มีหลายองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมต่อการเป็นผู้สูงอายุในด้านเศรษฐกิจ เช่น การไม่ได้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน การออมเงิน ในรูปแบบการฝากสะสม และการหารายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือนประจำในด้านที่อยู่อาศัย เช่น การจัดเตรียมลักษณะของที่พักอาศัยที่เหมาะสมสำหรับคนสูงอายุ การเอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตเมื่อเป็นผู้สูงอายุจากภาครัฐ อาทิ เงินกู้ที่อยู่อาศัย สวัสดิการต่าง ๆ การใช้บริการด้านที่อยู่อาศัยจากรัฐและเอกชน ความพร้อมหรือไม่พร้อมของแรงงานนอกระบบก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุในแต่ละมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพและที่อยู่อาศัยนั้นมีความแตกต่างกันออกไปตามคุณลักษณะในด้านต่าง ๆ ของแรงงานนอกระบบ

ทัศนคติของแรงงานนอกระบบที่มีต่อความเป็นผู้สูงอายุและแนวคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่นำมาใช้อธิบาย แรงงานนอก  ระบบที่มีความ “ไม่พร้อม” กับการก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ ได้แก่ 1) มิติทางสังคม คือ เพศหญิงอายุวัยปลายก่อนเป็นผู้สูงอายุ (50-59) เป็นคนต่างถิ่น ไม่เคยประสบภาวะการเจ็บป่วยในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มองค์กร/ชมรมในชุมชนขอความช่วยเหลือจากเพื่อนไม่ได้ ไม่มีบทบาทในชุมชนและสังคม ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลและข่าวสารจากครอบครัว แต่มีความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวไม่สู้จะดีนัก และไม่มีระยะห่างจากสังคมพอสมควร 2) มิติทางด้านเศรษฐกิจ คือ อายุวัยปลายก่อนเป็นผู้สูงอายุ (50-59) สมรสแล้วแต่ไม่มีบุตร ไม่ค่อยเปลี่ยนงาน รายได้ต่ำ ไม่มีเงินออม ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนไม่ได้ ไม่มีบทบาท ในชุมชนและสังคม ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือตนเองน้อยกว่ารอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และต้องการการสนับสนุนในภาคปฏิบัติมากนัก    3) มิติด้านสุขภาพ คือ เพศชาย สมรสแล้วและอยู่ด้วยกัน แต่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวไม่สู้จะดีนัก ไม่คิดแยกตัวเองจากสังคม ไม่ได้ให้ความส าคัญด้านสังคมและที่อยู่อาศัย พึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ไม่ต้องการการสนับสนุนด้านความรู้  4) มิติด้านที่อยู่อาศัย คือ รายได้ต่ำไม่มีเงินออม ไม่ได้อาศัยอยู่คนเดียวเมื่อแก่ตัว เป็นสมาชิกกลุ่ม/ชมรมในชุมชน ไม่มีบทบาทในชุมชน ครอบครัวเห็นและยอมรับในคุณค่า แต่ไม่ได้ให้การเหลือด้านสิ่งของเงินทอง และอารมณ์ มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับครอบครัว ไม่ค่อยมีเพื่อน และไม่ต้องการสนับสนุนด้านความรู้ 

ข้อเสนอแนะในการศึกษานี้คือ 1) ตระหนักว่าการเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้สูงอายุเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล การมอบสวัสดิการทางสังคมโดยที่ปัจเจกบุคคลไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตอนาคตของตนเองนั้นสร้างปัญหาและความหนักใจให้แก่หลายฝ่าย 2) จัดสวัสดิการโดยใช้ค่านิยมทางสังคมที่อยู่บนความเป็นอัตลักษณ์ของไทยโดยเรียนรู้แนวทางของประเทศอื่น 3) กระจายอำนาจการบริหารจัดการไปสู่ระดับชุมชน 4) สร้างความน่าเชื่อถือของระบบประกันสังคม รวมถึงสวัสดิการทางสังคมอื่น ๆ 5) จัดเงื่อนไขด้านเวลาในการจ่ายเงินเข้าระบบโดยพิจารณาตามอาชีพของแรงงานนอกระบบ

คำสำคัญแรงงานนอกระบบ, สังคมสูงอายุ

Downloads

Published

2014-12-31

Issue

Section

บทความวิจัย