การให้สมาคมผู้ประกอบการเป็นผู้รับรองหลักประกันประเภท “กิจการ” : กรณีศึกษา สมาคมสหมิตรการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย
Abstract
การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยเป็นปัญหาสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการจ้างงานที่ลดลง ระดับของขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาความรุนแรงทางสังคม จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยฝ่ายบริหารของประเทศได้มี
นโยบายที่จะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันเงินกู้ซึ่งมีความล้าหลัง โดยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. … เพื่อช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเรียกร้องต่างๆ และ สินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Asset) ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์ สินค้าคงคลังของกิจการ รวมไปถึง “กิจการ” มาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ การให้ผู้ประกอบการสามารถนำ “กิจการ” มาเป็นหลักประกันได้ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้พร้อมทั้งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทั้งนี้หากมีการบังคับหลักประกันประเภท “กิจการ” ผู้รับหลักประกันก็ไม่จำเป็นต้องขายทรัพย์สินของกิจการในลักษณะที่ต้องปิดกิจการลง แต่สามารถหาผู้ประกอบการอื่นมาซื้อและดำเนิน “กิจการ” ต่อไปได้ทันที อันจะส่งผลดีต่อแรงงานของ “กิจการ” ที่ไม่ถูกเลิกจ้างซึ่งเป็นผลดีต่อภาวะการจ้างงานของประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... ที่ให้นำ “กิจการ” มาใช้เป็นหลักประกันอาจไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรเนื่องจากการประเมินราคา “กิจการ” ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมไม่อาจทำได้ง่าย ประกอบกับลักษณะของทรัพย์สินของ “กิจการ” ซึ่งเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ซึ่งมีมูลค่าน้อยสำหรับการเปลี่ยนถ่ายมือไปสู่เจ้าของอื่น แต่มีมูลค่ามากสำหรับใช้ในการประกอบ “กิจการ” รวมไปถึงปัญหาพฤติกรรมของผู้ประกอบการ ซึ่งเรียกโดยรวมได้ว่า ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetic Information Problem) ระหว่างผู้ให้หลักประกัน และผู้รับหลักประกัน
งานวิจัยฉบับนี้จึงศึกษาแนวทางในการใช้กลไกความรับผิดชอบร่วมกัน (Joint Responsibility)
ซึ่งถูกใช้เป็นอย่างมากในโครงการไมโครเครดิต และประสบความสำเร็จอย่างมากในหลายประเทศ
ทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล โดยศึกษาแนวทางในการใช้กลไกของการให้สมาคม
ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้มีข้อมูลเกี่ยวกับ “กิจการ” ประเภทนั้นๆ เป็นผู้รับรอง “กิจการ” เพื่อใช้เป็นหลักประกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการตรวจสอบซึ่งกันและกันของสมาชิกภายในสมาคมฯ ซี่งจะช่วยลดปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลลงได้ เช่นเดียวกับโครงการไมโครเครดิต
งานค้นคว้าได้ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กลุ่มตัวอย่าง 4 กลุ่มได้แก่
ผู้ประกอบการ ตัวแทนฝ่ายสมาคม ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เข้าใจถึงมุมมองของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ประโยชน์ และแนวโน้มความเป็นไปได้ในการให้สมาคมทำหน้าที่รับรองหลักประกันประเภท “กิจการ” และแนวทางในการพัฒนากลไกดังกล่าว
โดยขอบเขตงานศึกษาฉบับนี้จะจำกัดกรอบอยู่ที่สมาคมสหมิตรการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทยเท่านั้นเนื่องจากสมาคมดังกล่าวเป็นสมาคมผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้งสมาคมดังกล่าวมีการดำเนินการมาแล้วเกือบ 70 ปี
จึงทำให้มีกลไกการตรวจสอบ และแรงกดดันทางสังคมระหว่างสมาชิกด้วยกัน ซึ่งเป็นกลไกซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของการลดปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลในกรณีของโครงการไมโครเครดิต
ผลของการศึกษาพบว่า แม้การรับรองของสมาคมจะไม่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายเพราะสมาคมไม่ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันให้กับสมาชิกในสมาคม การรับรองของสมาคมให้กับสมาชิกของสมาคม
ที่ประสงค์จะนำ “กิจการ” มาเป็นหลักประกันมีความเป็นไปได้ในทางที่เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผู้กู้
ซึ่งธนาคารก็ให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการในการพิจารณาให้สินเชื่อ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การรับรองของสมาคมมีความน่าเชื่อถือ คือการมีกลไกการกำกับดูแลกันเองในสมาคม
(Self-regulation) กล่าวคือสมาคมจะต้องทำให้ผู้บริหาร หรือคณะกรรมการของสมาคมมีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งมีกลไกที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการของสมาคมในการจัดการสมาชิกในสมาคมเพื่อให้การรับรองของสมาคมเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล
คำสำคัญ: หลักประกันทางธุรกิจ, ผู้ให้หลักประกัน, ผู้รับหลักประกัน,ร่างพระราชบัญญัติหลักประกัน ทางธุรกิจ พ.ศ. ...., การรับรอง “กิจการ” โดยสมาคม