แนวทางการพัฒนาระบบการจัดสรรที่ดินทำกินในที่ราชพัสดุ จังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน

Authors

  • ณัฐกริช เปาอินทร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Abstract

แม้ว่าปัญหาของการจัดสรรที่ดินทำกินในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้นเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ทว่า การแก้ไขนี้อย่างจริงจังนั้นเริ่มต้นขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 โดยทางจังหวัด สุราษฎร์ธานีได้รับนโยบายให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ศจพ.จ.สฎ.)ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโดยตรงให้กับราษฎรผู้ยากไร้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งที่ราชพัสดุในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้และยังเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัญหาของการจัดสรรที่ดินทำกินในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองผู้มีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุและขั้นตอนการใช้ประโยชน์จริงหลังการได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งเป็นการตรวจสอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสองขั้นตอนของกระบวนการจัดสรรที่ดินทำกินในที่ราชพัสดุ จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการดำเนินการที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เพราะสาเหตุใด โดยใช้วิธีการวิเคราะห์แยกแยะเนื้อหาสาระและการเปรียบเทียบหน่วยวิเคราะห์ที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นจะใช้สามวิธีหลักคือ (1) การสัมภาษณ์เชิงลึก (2) การประชุมกลุ่ม และ (3) การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม

ผลการวิจัยพบว่า ในขั้นตอนของการคัดกรองราษฎรเพื่อเข้ารับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้น ประชาชนไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทั้งในเรื่องของการให้ข้อมูลที่จำเป็นและการให้บริการประชาชนด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน ซึ่งทำให้การจัดสรรที่ดินทำกินไร้ประสิทธิผล เนื่องจากผู้ได้รับการจัดสรรมีความเหมาะสมน้อยกว่าผู้ไม่รับการจัดสรรเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าหน้าที่รัฐขาดทรัพยากรในการดำเนินการที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งนโยบายและแนวทางการดำเนินการยังขาดความชัดเจนในการปฏิบัติอีกด้วย สำหรับ
ขั้นตอนหลังจากราษฎรได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินในที่ราชพัสดุ จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปแล้วนั้น ประชาชนยังไม่สามารถดำเนินการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมตามเจตจำนงค์ของการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรผู้ยากไร้ เนื่องจากผู้ได้รับการจัดสรรไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะแก่การประกอบอาชีพ ทั้งยังขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพอีกด้วย ในการนี้ทางหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบก็ไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างเพียงพอเนื่องจากขาดงบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินการ ซึ่งส่งผลให้การจัดสรรที่ดินทำกินในที่ราชพัสดุ จังหวัดสุราษฎร์ธานีขาดซึ่งประสิทธิผลและไร้ความยั่งยืน

เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกินในที่ราชพัสดุอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน การวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบาย คือ (1) ปรับโครงสร้างของ ศจพ.จ.สฏ. ให้มีความชัดเจนในสายการบังคับบัญชาและภาระงาน (2) จัดสรรงบประมาณการดำเนินการสำหรับ ศจพ.จ.สฏ.ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องเสนองบประมาณตามสายบังคับบัญชาด้วย (3) ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการจัดสรรที่ดินทำกินควรมีความชัดเจน ตรงตามเป้าประสงค์ของนโยบาย อีกทั้งในการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าว ควรมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาคประชาชน
เจ้าหน้าที่รัฐทั้งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการ เพื่อให้คุณสมบัตินั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย (4) ควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างทั่วถึง เช่น กำหนดการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับสิทธิ คุณสมบัติของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ทันกับกำหนดระยะเวลาในขั้นตอนต่างๆ (5) ขยายช่องทางการแจ้งความจำนงในการเข้ารับสิทธิ (6) การจัดเตรียมพื้นที่ที่จะดำเนินการจัดสรรให้กับประชาชนให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพ (7) การจัดโครงการสร้างความรู้ให้กับประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน เพื่อให้ประชาชนสามารถอาศัยและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิผลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

คำสำคัญ การจัดสรรที่ดินทำกิน ที่ดินราชพัสดุ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Downloads

Issue

Section

บทความวิจัย