ปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจเข้าสู่ตลาดแรงงานเสรีประชาคมอาเซียน ด้านวิชาชีพของพยาบาลในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Authors

  • ศิริพันธ์ หงษ์ทรัพย์ภิญโญ
  • พาชิตชนัต ศิริพานิช

Abstract

            งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อระดับความตั้งใจเข้าสู่ตลาดแรงงานเสรีประชาคมอาเซียนด้านวิชาชีพของพยาบาลในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ประชากรในการศึกษา คือ พยาบาลวิชาชีพที่ทำงานประจำในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีขนาดตัวอย่าง 371 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และใช้การวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis) โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติเท่ากับ .05

ผลการวิจัยพบว่าตัวแปรอิสระของปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจเข้าสู่ตลาดแรงงานเสรีฯ มีทั้งสิ้น 7 ตัวแปร ซึ่งจำแนกเป็น 1) ปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อระดับความตั้งใจเข้าสู่ตลาดแรงงานเสรีฯ ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วยตัวแปร การมีผู้อยู่ในอุปการะ และระดับการศึกษาสูงสุด ปัจจัยดึงดูด (Pull factors) ประกอบด้วยตัวแปร ด้านความก้าวหน้าทางวิชาชีพ และด้านสถาบัน (เครื่องมือและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน) 2) ปัจจัยที่ส่งผลทางลบต่อระดับความตั้งใจเข้าสู่ตลาดแรงงานเสรีฯ ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วยตัวแปร อายุ และลักษณะรายได้ครอบครัวแบบพอใช้เหลือเก็บ ปัจจัยผลักดัน (Push factors) ได้แก่ตัวแปร ด้านความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ซึ่งสมการถดถอยสามารถอธิบายความแปรปรวนของระดับความตั้งใจเข้าสู่ตลาดแรงงานเสรีฯ (R2) ได้ร้อยละ 32.80 ผลการวิจัยครั้งนี้จะทำเกิดประโยชน์ต่อผู้บริหารโรงพยาบาล ในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ด้านการธำรงรักษาพยาบาลวิชาชีพให้คงอยู่ในวิชาชีพและในองค์การให้นานขึ้น

Downloads

Published

2015-07-31

Issue

Section

บทความวิจัย