"เด็กวัดผิดตรงไหน หรือเด็กวัดไม่ใช่คน" กรณีศึกษาพฤติกรรมการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในเชิงตรรกะวิบัติ
Abstract
ในปัจจุบัน การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์นั้นมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารของผู้คนมากยิ่งขึ้นด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเอื้ออำนวยให้การสื่อสารออนไลน์นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วนอกจากนี้ ความสามารถในการกระจายข่าวสารบนโลกออนไลน์ยังส่งผลให้บางเรื่องราว บุคคล ธุรกิจ หรือองค์กรที่ถูกกล่าวถึงถูกบอกต่อเรื่องราวในวงกว้างในระยะเวลาชั่วข้ามคืน แสดงให้เห็นถึงอำนาจของ โซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้น เนื่องด้วยผู้คนในปัจจุบันเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้นธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าธุรกิจที่มีผู้บริโภคเป็นกลุ่มย่อยๆ เฉพาะเจาะจงได้ง่ายขึ้นรวมถึงธุรกิจบริการมีโอกาสและช่องทางทางการตลาดมากขึ้นเว็บไซต์ประเภทสื่อสังคมออนไลน์จึงกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารและเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เราไม่อาจมองข้ามได้ เพราะการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์นี้อาจเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลเข้าด้วยกันจนสามารถขยายเป็นกลุ่มเครือข่ายขนาดใหญ่ บุคคลเหล่านี้ถือว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อธุรกิจต่างๆ และมีอำนาจในการเสริมศักยภาพ ความน่าเชื่อถือ และความภักดีต่อองค์กร โดยในปัจจุบันสามารถพบเห็นการถกเถียงกันตามกระดานสนทนาต่างๆ โดยใช้ตรรกะวิบัติหรือข้อมูลที่บิดเบือนมาทำให้การสนหนานั้นหันเหนอกประเด็น เป็นพฤติกรรมการสื่อสารรูปแบบหนึ่งบนโลกออนไลน์ซึ่งเรียกสั้นๆว่า “พฤติกรรมดราม่า” โดยมีที่มาจาก “ตรรกะวิบัติ” (Fallacy)
งานวิจัยฉบับนี้จึงยกกรณีศึกษาพฤติกรรมการแสดงความคิดเห็นแบบตรรกะวิบัติ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติที่ดีต่อธุรกิจ หรือภาพลักษณ์องค์กรบนสังคมออนไลน์ โดยคณะผู้วิจัยศึกษารูปแบบ ลักษณะของการแสดงความคิดเห็นต่อกระทู้ที่นำเสนอข่าวแบบการใช้ตรรกะวิบัติ โดยเป็นตรรกะวิบัติสามารถพบเจอได้ตามสื่อออนไลน์ การอ้างเหตุผลผิดแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) การใช้เหตุผลผิดทางแบบแผน (Formal Fallacy) 2) การใช้เหตุผลผิดทางเนื้อหา (Material Fallacy) และ 3) การใช้เหตุผลผิดทางจิตวิทยา (Psychological Fallacy) รวมถึงศึกษารูปแบบภาษาในการนำเสนอความคิดเห็นแบบใดที่จะช่วยแก้สถานการณ์ให้กับองค์กรธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาข่าวด้านลบบนโลกออนไลน์ ซึ่งช่วยยับยั้งความเสียหายต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อธุรกิจหรือองค์กรนั้นๆได้ คณะผู้วิจัยมุ่งหวังให้งานวิจัยนี้สร้างประโยชน์แก่ องค์กรต่างๆ ผู้ดูแลสื่อออนไลน์ และผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจรูปแบบการแสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ และสามารถนำไปบูรณการณ์ในการวางแผนการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ