ระบบกฎหมายความมั่นคง: ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปโครงสร้าง และองค์กรในการใช้อำนาจตามหลักธรรมาภิบาลภาคความมั่นคง
Abstract
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคงของประเทศไทยให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลภาคความมั่นคง โดยการศึกษาได้เริ่มจากการสำรวจสภาพปัญหาด้าน“โครงสร้าง” และ “องค์กร” ในการใช้อำนาจและมาตรการในการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับอันประกอบด้วย (1) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (2) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ (3) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยการศึกษาได้ใช้วิธีการศึกษาวิจัยแบบผสมผสานคือ ใช้การศึกษาวิเคราะห์เอกสาร (Documentary analysis)และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview)กับตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายมหาชน
ผลการศึกษาพบว่า โครงสร้างและองค์กรในการใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับถูกออกแบบให้เป็นอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐบาลแต่เพียงองค์กรเดียวโดยปราศจากการควบคุมทั้งในทางการเมืองและทางกฎหมายกล่าวคือ ประการที่หนึ่ง กฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับได้ตัดมิติการมีส่วนร่วมของรัฐสภาสำหรับการตรวจสอบควบคุมและถ่วงดุลการใช้ดุลยพินิจของรัฐบาลในการประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงอย่างสิ้นเชิง ประการที่สองในประเด็นของกระบวนการยุติธรรมสำหรับการเยียวยาบรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงได้ตัดขอบเขตอำนาจของศาลปกครองในส่วนดังกล่าวออกไป ด้วยข้อกำหนดด้านโครงสร้างและองค์กรที่ว่านี้ย่อมนำไปสู่การส่งเสริมให้รัฐบาลหลุดพ้นไปจากความรับผิดรับชอบจากการใช้อำนาจเหล่านั้นแต่ในขณะเดียวกัน“หัวใจหลัก” ของหลักธรรมาภิบาลภาคความมั่นคงมีความประสงค์ให้การใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงควรตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐสภาเพื่อให้มีขั้นตอนการตรวจสอบ การควบคุมและถ่วงดุลการใช้ดุลยพินิจของรัฐบาล และเพื่อสร้างระบบและกลไกให้รัฐบาลตกอยู่ภายใต้หลักความรับผิดรับชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการใช้อำนาจเหล่านั้น
ด้วยสภาพปัญหาด้านโครงสร้างและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงที่ค้นพบข้างต้น จึงมีข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูประบบกฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับ คือ (1) ควรกำหนดให้รัฐสภาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้ดุลยพินิจของรัฐบาล (2) ควรกำหนดให้ศาลปกครองเข้ามามีขอบเขตอำนาจในการตรวจสอบอรรถคดีทั้งหลายอันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจของรัฐตามกฎหมายความมั่นคงและ (3) รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงอย่างเหมาะสม พอสมควรแก่เหตุ และได้สัดส่วนกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่จริงเพื่อสถาปนาหลักธรรมาภิบาลภาคความมั่นคงให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ