การศึกษา 15 หน่วยงานรัฐตามพระราชบัญญัติเฉพาะ: แนวคิดเรื่ององค์การและแนวทางการพัฒนา
Abstract
องค์การตามพระราชบัญญัติเฉพาะเป็นรูปแบบการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะแยกออกมาจากส่วนราชการ (agentification) ซึ่งเป็นรูปแบบองค์การภาครัฐที่มีความอิสระคล่องตัวตามแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) มีความแตกต่างจากรูปแบบองค์การภาครัฐแบบเดิม รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอผลการศึกษาเรื่ององค์ความรู้เกี่ยวกับองค์การตามพระราชบัญญัติเฉพาะจำนวน 15 หน่วยงาน ในประเด็นเกี่ยวกับเจตนารมณ์ บทบาท กลไกการบริหารจัดการ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและผลการดำเนินงานในเบื้องต้นขององค์การดังกล่าว รวมทั้งจุดร่วมและจุดต่างในด้านการบริหารจัดการ ตลอดจนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนา การศึกษาใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก การสัมมนากลุ่ม และการสังเกตการณ์ ผลการศึกษาพบว่า องค์การเหล่านี้มีความแตกต่างจากหลักการในการจัดตั้งโดยเฉพาะในเรื่องมิติของความอิสระคล่องตัว องค์การเหล่านี้มีจุดร่วมในเรื่องแนวคิดการจัดตั้ง สถานภาพของหน่วยงานและระบบความพร้อมรับผิด ส่วนจุดต่างคือเรื่องสังกัด พันธกิจ รูปแบบและองค์ประกอบของคณะกรรมการ และเส้นทางเดินของงบประมาณ ผลการดำเนินงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี ได้แก่ การทำงานแบบเครือข่าย การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน รูปแบบคณะกรรมการแบบเข้มแข็งเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย และความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านการเงิน สำหรับประเด็นสาธารณะ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงกับองค์การ ความซ้ำซ้อนที่ไม่จำเป็นของหน้าที่ความรับผิดชอบ ความคุ้มค่าทางการเงิน บทบาทของคณะกรรมการ การผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การขยายบทบาทของผู้ซื้อและผู้จัดหาบริการ และแนวโน้มการเป็นศูนย์อำนาจใหม่ของระบบราชการ บทความได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาองค์การ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการวิจัยในอนาคต