กรณีศึกษาหลักอทินนาทานกับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์

Main Article Content

พระครูพิสุทธิธรรมาภรณ์ ทองสะคม
ดร.สหชาติ ทันที
นายเกษม ประพาน

บทคัดย่อ

         การวิจัยเรื่อง “กรณีศึกษาหลักอทินนาทานกับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์” มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหลักอทินนาทานในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลักกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์ และ เพื่อศึกษาวิเคราะห์เกณฑ์ตัดสินหลักอทินนาทานกับเกณฑ์ตัดสินหลักกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎกอรรถกถา เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยนำเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีการพรรณาวิเคราะห์
     ผลการศึกษาวิจัยพบว่า หลักอทินนาทานในพระพุทธศาสนาเถรวาทในฝ่ายบรรพชิต คือ พระบัญญัติและอนุบัญญัติ หรือองค์แห่งอาบัติปาราชิกสิกขาบทที่ 2 ปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 ส่วนหลักอทินนาทานในฝ่ายฆราวาสได้แก่หลักเบญจศีลเบญจธรรม
         หลักกฎหมายว่าด้วยการครอบครองปรปักษ์ ได้แก่บทบัญญัติมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
          การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นที่เจ้าของยังไม่สละการครอบครองและยังไม่ได้ให้ เพียงแต่เผลอไผลการครอบครองทรัพย์สินนั้น แม้จะเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยผลกฎหมายก็ตาม แต่ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้ถือเป็นการลักทรัพย์ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีราคามากน้อยก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ถือเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นขัดต่อหลักอทินนาทานในพระพุทธศาสนาเถรวาท

Article Details

บท
บทความวิจัย