แรงบันดาลใจจากลายรดน้ำ : พุทธประวัติ ตอน เสวยวิมุตติสุข

ผู้แต่ง

  • สถาพร เครือวัลย์ สาขาทัศนศิลป์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • สมพร ธุรี สาขาทัศนศิลป์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

คำสำคัญ:

ลายรดน้ำ, พุทธประวัติ, เสวยวิมุติสุข

บทคัดย่อ

การวิจัยสร้างสรรค์เรื่อง แรงบันดาลใจจากลายรดน้ำ : พุทธประวัติ ตอน เสวยวิมุตติสุข เป็นการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะลายรดน้ำ อันเป็นงานศิลปกรรมชั้นสูงของไทยที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ในความเป็นชาติไทย แต่เนื่องด้วยในปัจจุบันนี้วัสดุอุปกรณ์บางชนิดหาได้ยากและมีราคาแพงจึงทำให้ในการสร้างงานศิลปะลายรดน้ำจะใช้ทุนสูงในการสร้างงาน อีกทั้งสีที่ปรากฏในงานยังถูกจำกัดไปตามสีของวัสดุ คือ สีดำจากยางรัก      สีทองจากแผ่นทองคำเปลว ทำให้ผลงานมีรูปแบบที่ไม่หลากหลาย งานวิจัยสร้างสรรค์เรื่องนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้ของเทคนิคลายรดน้ำจากอดีตถึงปัจจุบัน ว่าในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมลายรดน้ำนั้นมีแนวคิด เทคนิควิธีการ วัสดุอุปกรณ์ ในการสร้างสรรค์อย่างไร เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาสร้างสรรค์งานจิตรกรรมลายรดน้ำที่มีอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะตนในเรื่องพุทธประวัติ ตอน เสวยวิมุติสุข อันเป็นเรื่องราวของพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่าทางจิตใจและใช้สั่งสอนชาวพุทธให้เห็นถึงความสุขที่ได้พบธรรมะหนทางแห่งการหลุดพ้น ซึ่งจะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่าสงบสุข เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะลายรดน้ำในเชิงสร้างสรรค์ให้อยู่คู่กับสิ่งดีงามและชาติไทยสืบไป โดยการวิจัยสร้างสรรค์ในครั้งนี้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลจากเอกสาร พิพิธภัณฑ์ จิตรกรรมฝาผนังในวัด และผลงานของศิลปินที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์เป็นองค์ความรู้นำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมลายรดน้ำ ชุดทดลองจำนวน 2 ชุด และนำผลจากชุดทดลองมาสร้างเป็นผลงานสรุป

          ผลการวิจัยพบว่าในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมลายรดน้ำนั้นสามารถใช้วัสดุบางชนิดที่หาได้ง่ายในปัจจุบันและมีราคาที่ถูกลงมาใช้แทนค่ากันได้ นั่นคือ ยางรักที่ใช้ในการทำพื้นงานในสมัยก่อนสามารถใช้     สีเฟลกซ์หรือน้ำมันวานิชเคลือบด้านสำหรับสีอะคริลิคทดแทนได้ ทั้งยังสามารถคงสีเดิมของพื้นวัสดุไว้ได้ และแผ่นทองคำเปลวสามารถใช้ผงโลหะ คือ ผงเงิน ผงทองวิทยาศาสตร์ ผงนาก ทดแทนได้ จากผลการศึกษาที่ได้ผู้วิจัยจึงนำมาใช้เป็นข้อมูลผสานกับรูปแบบและแนวคิดส่วนตัวในการสร้างผลงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี เรื่องพุทธประวัติ ตอน เสวยวิมุตติสุข ที่ผสานกันระหว่างเทคนิคลายรดน้ำกับงานประติมากรรมนูนต่ำ รองพื้นด้วยแผ่นนากเปลว แล้วเคลือบงานด้วยน้ำมันวานิชเคลือบด้านสำหรับสีอะคริลิค มีการใช้แผ่นทองคำเปลว   ผงเงิน ผงทองวิทยาศาสตร์ ผงนาค และสีอะคริลิคผสมกัน เกิดเป็นศิลปะลายรดน้ำรูปแบบใหม่ ที่ยังทรงคุณค่าคู่ควรกับเรื่องราวที่นำเสนอ ทำให้ศิลปะลายรดน้ำมีความหลากหลายน่าสนใจยิ่งขึ้น

References

กรมศิลปากร. (2549). ชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.

กำจร สุนพงษ์ศรี. สุนทรียศาสตร์ : หลักปรัชญาศิลปะ ทฤษฎีทัศนศิลป์ ศิลปวิจารณ์. กรุงเทพฯ:
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. (2551). ยางรักในงานศิลปไทย. ใน สัมมนาวิชาการศึกษายางรักเพื่ออนุรักษ์ภูมิ
ปัญญาไทย. (น. 9-16). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ไชยพจน์ หวลมานพ. (2560). สุนทรียศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล กรุ๊ป.

ทศพร วัชรางกูร. (2551). ลักษณะทางวนวัฒนวิทยาบางประการของไม้รักใหญ่. ใน สัมมนาวิชาการ
ศึกษายางรักเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย. (น. 223-236). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

น. ณ ปากน้ำ. (2544). ปกิณกะศิลปะไทยในสายตา น. ณ ปากน้ำ : ตู้พระไตรปิฏกสุดยอดแห่งศิลปะ
ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

น. ณ ปากน้ำ. (2533). ศิลปะลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.

บัณฑิต อินทร์คง. (2560). ศิลปะลายรดน้ำและศิลปะลายกำมะลอ มรดกภูมิปัญญาไทย. กรุงเทพฯ:
อันลิมิตพริ้นติ้ง.

วีระชัย ณ นคร. (2551). ไม้รักใหญ่ทรัพยากรทรงคุณค่า. ใน สัมมนาวิชาการศึกษายางรักเพื่ออนุรักษ์
ภูมิปัญญาไทย. (น. 17-28). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

สิโรจน์ พวงบุปผา.(2553). จิตรกรรมลายทองร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ ศิลปะมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะ
ไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สมพร ธุรี. (2553). การวิเคราะห์ทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30