การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์สะท้อนอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ฝั่งธนบุรี ชุด บางกอกธนบุรี

ผู้แต่ง

  • กชกร ชิตท้วม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

คำสำคัญ:

บางกอกธนบุรี, การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์, ชาติพันธุ์ฝั่งธนบุรี

บทคัดย่อ

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์สะท้อนอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ฝั่งธนบุรี ชุด บางกอกธนบุรี ได้แนวคิดมาจากอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ของกลุ่มคนที่สร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในแง่มุมของความหลากหลายและจุดร่วมตลอดจนการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏในพื้นที่ฝั่งธนบุรีและนำมาสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ร่วมสมัย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ มีวิธีการค้นคว้าข้อมูลเอกสาร การสัมภาษณ์ การสนทนา การสังเกตการณ์ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติทดลองการแสดง ผลการวิจัยพบว่า บทการแสดง แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ช่วงที่ 2ความหลากหลายทางศาสนา และช่วงที่ 3 การอยู่ร่วมกัน เสียงดนตรีประกอบการแสดงมีทั้งการประพันธ์ทำนองขึ้นใหม่และแต่งขยายเพิ่มจากทำนองเพลงเดิมโดยใช้เสียงสังเคราะห์และเสียงจากเครื่องดนตรีไทยแทรกอยู่ทุกช่วงทำนองเพลงตั้งแต่ต้นจนจบ อีกทั้งมีการใช้เครื่องดนตรีออกภาษาเพื่อให้ได้อารมณ์สำเนียงของชาติพันธุ์นั้น นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสียงที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนามาใช้ออกแบบให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการแสดง มีการใช้นักแสดงหญิง จำนวน 9 คน ที่มีความสามารถทางนาฏยศิลป์ไทยและนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ เครื่องแต่งกาย 1) ยึดตามรูปแบบการแต่งกายของหญิงสาวสมัยธนบุรีโดยใช้ผ้าแถบพันอก นุ่งผ้าซิ่นยาวกรอมเท้า อีกทั้งนักแสดงแต่ละคนมีการใช้ผ้าคนละ 1 ผืน มีขนาดความกว้าง 1 เมตร และยาว 2 เมตร มาเป็นส่วนประกอบของเครื่องแต่งกายรูปแบบต่างๆ และใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง 2) ออกแบบสร้างเครื่องแต่งกายในรูปแบบสมัยใหม่จากพื้นฐานเครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ที่สื่อสารเชิงสัญลักษณ์ มีการใช้ลีลานาฏยศิลป์ไทยและท่าทางการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน มีการแปรแถวเพื่อเน้นและให้ความสำคัญ การตั้งซุ้มเพื่อให้มีมิติ ตลอดจนเพื่อสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ และมีการใช้แสงสลัวแล้วค่อย ๆ สว่างขึ้นจนเป็นสีขาวนวล ใช้ระยะเวลาในการแสดง 7.39 นาที

References

จารุวรรณ ขำเพชร. (2561). ภูมิทัศน์ชาติพันธุ์ แผนที่ชุมชนชาติพันธุ์ในกรุงเทพมหานคร. [รายงานวิจัย]. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

จินตนา สายทองคำ. (2561). กระบวนการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์ ชุด สักการะเทวราช ใน วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. 10(1), 103-117.

ชะวัชชัย ภาติณธุ. (2535). ยุคสมัยเครื่องแต่งกายไทย. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

ฐิติรัตน์ และคามินทีม. (2554). การแต่งกายสมัยไทยมุง-สมัยธนบุรี. สกายบุ๊กส์.

นพดล อินทร์จันทร์. (2548). ศิลปะของการจัดแสงบนเวที ใน การแสดงและนาฏศิลป์. สันติศิริการพิมพ์.

นริศรานุวัติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ. (2515). สาส์นสมเด็จ เล่ม 2. โรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา

ยุกติ มุกดาวิจิตร. (2565). Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก. มติชน.

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. (2551). การศึกษาองค์ความรู้ และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนย่านกุฎีจีนและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เขตธนบุรี.มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าะพระยา.

สรร ถวัลย์วงศ์ศรี. การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากแนวคิดความหลากหลายทางเพศ. [วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Hopgood, Jeromy. (2016) . Dance Production: Design and Technology. New York: Focal Press.

Schlaich, J. and Dupont, B., Editors. (1998). DANCE THE ART OF PRODUCTION (3rd ed.) Hightstown, NJ; Princeton Book Company.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-12-28