การประเมินเพื่อการพัฒนาความคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้เข้าอบรม หลักสูตรนักบริหารระดับสูงในราชการพลเรือนไทย

Authors

  • ผศ.ดร.วีระวัฒน์ ปันนิตามัย คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Keywords:

ความคิดเชิงกลยุทธ์, นักบริหารระดับสูง, ราชการไทย

Abstract

กลุ่มนักบริหารระดับสูงในภาครัฐถือเป็นข้าราชการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติ การพัฒนาความคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐมีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ การศึกษาวิจัยเรื่อง การประเมินเพื่อการพัฒนาความคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงในราชการพลเรือนไทย ที่ทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มโดยบังเอิญ คือ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส. 1) และ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเสริมนักบริหารระดับสูง (ส.นบส.) จัดโดยสำนักงาน ก.พ.ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2559 รวมจำนวน 245 คน ที่สุ่มเลือกเข้าฐานกิจกรรม World Café มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับสมรรถนะการคิดเชิงกลยุทธ์ที่ประกอบด้วย 6 ด้าน ดังที่ Schoemaker, Krupp, & Howland (2013) เสนอไว้ และแสวงหาแนวทางพัฒนาการคิดเชิงกลยุทธ์ของนักบริหาร ผ่านการเล่าเรื่องประสบการณ์การบริหารภาครัฐที่เกี่ยวกับการคิดเชิงกลยุทธ์
ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างนักบริหารราชการพลเรือน มีระดับสมรรถนะด้านการคิดเชิงกลยุทธ์ทั้ง 6 ด้าน (พฤติกรรมที่เกี่ยวกับ การคาดคะเน การท้าทาย การตีความ การตัดสินใจ ด้านการสร้างเอกภาพ และ ด้านการเรียนรู้) อยู่ในระดับสูง ขณะที่นักบริหารชายมีระดับคะแนนของการคิดเชิงกลยุทธ์ที่สูงกว่านักบริหารสตรี 5 ใน 6 ด้านอย่างมีนัยสำคัญ การพัฒนาการคิดเชิงกลยุทธ์ด้วย การเล่าเรื่อง และ ประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการคิดเชิงกลยุทธ์ ผ่านกิจกรรม The World Café ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีและการสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักบริหาร งานวิจัยนี้เสนอแนะ แนวทางการประยุกต์การประเมินสมรรถนะการคิดเชิงกลยุทธ์เข้าสู่กระบวนการพัฒนาทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และ หลังการพัฒนา การศึกษานี้ยังได้เสนอแนะ แนวทางการพัฒนาการคิดเชิงกลยุทธ์ผ่านความแตกต่างระหว่างนักบริหารสตรีและนักบริหารชายในราชการพลเรือน โดยเฉพาะการออกแบบ กระบวนการ และวิธีการประเมินเพื่อการพัฒนาสมรรถนะการคิดเชิงกลยุทธ์ของนักบริหาร อีกทั้งได้รายงานถึงข้อจำกัดของการวิจัยครั้งนี้ และ แนวทางของการศึกษาวิจัยในครั้งต่อไป

Downloads

Published

2020-12-31