วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นแหล่งเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทางด้านการเมืองการปกครอง การระหว่างประเทศ รัฐประศาสนศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการเผยแพร่ผลงานที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ และมีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรม/ จรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (DUTIES OF EDITORS)

1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความในเบื้องต้น โดยพิจารณาจากประโยชน์ทางวิชาการ ความน่าเชื่อถือของเนื้อหา และขอบเขตเนื้อหาที่ตรงกับขอบเขตการรับตีพิมพ์บทความของวารสาร

2. บรรณาธิการจะต้องพิจารณาบทความโดยใช้หลักการทางวิชาการ ปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้เขียน ทั้งในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้เขียน

3. บรรณาธิการมีหน้าที่สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับสาขาของบทความ เพื่อทำหน้าที่ประเมินคุณภาพของบทความ ในกรณีที่เห็นสมควรให้นำบทความนั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความ

4. บรรณาธิการจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงที่อยู่ระหว่างการประเมินบทความ

5. บรรณาธิการจะไม่รับตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน (Redundant Publication)

6. บรรณาธิการจะต้องดำเนินการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของบทความ การละเมิดหรือคัดลอกผลงานทางวิชาการของผู้อื่น (Plagiarism) รวมทั้งการคัดลอกผลงานของตนเองโดยมิชอบ (Self-plagiarism) โดยใช้โปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการที่มีมาตรฐาน

7. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) กับผู้เขียน ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ หรือนำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ

8. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด และพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกระบวนการบริหารจัดการวารสารให้มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน

9. เนื่องจากกระบวนการปกติในการประเมินคุณภาพบทความของวารสาร จะมีผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยจำนวน 3 คน ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพบทความ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิทุกคน จะถูกรวบรวมให้ผู้เขียนทราบ และพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทความให้มีความสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการต่อผู้เขียนเอง

10. ในกรณีที่มีบรรณาธิการตรวจพบ หรือได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพของบทความ การละเมิดจริยธรรมการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ บรรณาธิการต้องรีบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการแก้ไขตามแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานโดยเร่งด่วน

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน (DUTIES OF AUTHORS)

1. บทความที่ผู้เขียนส่งมาเพื่อขอรับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสาร ต้องเป็นบทความที่เขียนขึ้นมาใหม่ (Original Article) ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน (Redundant Publication) หากเป็นบทความที่เคยนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ หรืองานสัมมนาวิชาการที่ใดที่หนึ่งมาก่อน หรือเป็นบทความที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ หรือการแปลงานจากภาษาอื่น จะต้องมีการอ้างอิงโดยระบุไว้ในเชิงอรรถ และบทความนั้นจะต้องมีการปรับแก้ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ

2. ผู้เขียนจะต้องไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานทางวิชาการของผู้อื่น (Plagiarism) รวมทั้งการคัดลอกผลงานของตนเองโดยมิชอบ (Self-plagiarism)

3. ผู้เขียนต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัย/รวบรวมข้อมูล โดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ และปราศจากอคติในทุกขั้นตอนการทำวิจัย

4. ผู้เขียนจะต้องปกป้องสิทธิ และรักษาความลับของผู้ให้ข้อมูลตามแนวทางจรรยาบรรณนักวิจัย และอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลจากการสัมภาษณ์ตามแนวทางที่วารสารกำหนด

5. ผู้เขียนจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล/ผลงาน ที่นำมาใช้ประกอบการเขียนบทความ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนทั้งการอ้างอิงในเนื้อหา (Citation in-text) และรายการเอกสารอ้างอิง (Reference) ท้ายบทความ ตามหลักการอ้างอิงผลงาน (วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ใช้ระบบ APA 6)

6. ผู้เขียนต้องไม่ส่งบทความเพื่อขอรับการพิจารณาตีพิมพ์มากกว่าหนึ่งวารสารในเวลาเดียวกัน (Simultaneous Sumission)

7. ผู้เขียนจะต้องจัดทำบทความ และจัดเตรียมข้อมูลให้ครบถ้วนตามรายละเอียดที่ทางวารสารกำหนดในแนวทางการจัดทำต้นฉบับบทความ

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (DUTIES OF REVIEWERS)

1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่รับพิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่อยู่ระหว่างการประเมินบทความ หรือนำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ

2. ในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้รับบทความจากบรรณาธิการแล้ว พบว่า ตนเองอาจมีความเกี่ยวข้อง มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการขัดกันของผลประโยชน์กับบทความดังกล่าว เช่น อาจคาดเดาได้ว่าบทความดังกล่าวมาจากการวิจัยที่ตนเองเป็นผู้ร่วมโครงการ หรือคาดเดาได้ว่าผู้เขียนเป็นใคร และตนเองมีความเกี่ยวข้องเป็นส่วนตัว หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะ/ประเมินคุณภาพบทความอย่างอิสระได้ ผู้ทรงคุณวุฒิควรแจ้งบรรณาธิการทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้นๆ

3. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องประเมินบทความโดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ มาตรฐานทางวิชาการ โดยพิจารณาจากความสมบูรณ์ ความเป็นเหตุเป็นผล ความริเริ่มสร้างสรรค์ ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล การสื่อความ ประโยชน์ต่อวงวิชาการ และปราศจากอคติทั้งในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง

4. หากผู้ทรงคุณวุฒิพบว่าบทความที่รับพิจารณามีการละเมิด หรือคัดลอกผลงาน หรือดำเนินการศึกษาวิจัย/รวบรวมข้อมูล โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ หรือมีการดำเนินการอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามจริยธรรมทางวิชาการ ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยเร็ว