คำแนะนำการเตรียมและส่งต้นฉบับวารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นวารสารเชิงวิชาการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และผลงานวิชาการทางด้านศึกษาศาสตร์ ภาษาและภาษาศาสตร์ ไทยศึกษา วรรณคดี สารสนเทศศาสตร์ นิเทศศาสตร์ สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ การบัญชีและการบริหารธุรกิจ ของคณาจารย์ นักวิจัย ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการต่อไป
กำหนดการตีพิมพ์เผยแพร่ ปีละ 2 ฉบับ (ราย 6 เดือน)
ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน
ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม
ข้อกำหนดและระเบียบการตีพิมพ์
1. ผลงานที่ส่งมาต้องเป็นผลงานวิจัยที่ไม่เคยตีพิมพ์ หรืออยู่ในระหว่างพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นเมื่อได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ หากตรวจสอบพบว่า มีการตีพิมพ์ซ้ำซ้อนถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
2. บทความที่ผ่านการพิจารณาจากกองบรรณาธิการเพื่อขอตีพิมพ์จะได้รับการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ท่าน ผลการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิถือเป็นสิ้นสุด
3. บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารฯ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
4. กรณีผู้เขียนเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา บทความที่ส่งตีพิมพ์ ต้องผ่านความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาก่อนนำส่งบทความ
5. เนื้อหาข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่อง เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กองบรรณาธิการไม่มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
6. การส่งต้นฉบับบทความ ให้ผู้เขียนส่งต้นฉบับบทความพร้อมกรอกรายละเอียดใน “แบบฟอร์มการส่งบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและวิจัย มทร. พระนคร” ให้ครบถ้วน หากไม่มีแบบฟอร์มนำส่งบทความจะขอสงวนสิทธิ์ในการรับพิจารณาบทความจากกองบรรณาธิการ
การจัดรูปแบบต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์
1. บทความที่ส่งพิจารณาเพื่อตีพิมพ์มีความยาวระหว่าง 10-15 หน้า พิมพ์หน้าเดียวบนกระดาษขนาด A4 ตั้งค่าหน้ากระดาษ และระยะขอบ ดังนี้
ระยะขอบบน 2.50 ซม. ระยะขอบล่าง 2.00 ซม.
ระยะขอบซ้าย 2.00 ซม. ระยะขอบขวา 2.00 ซม.
หัวกระดาษ 1.25 ซม. ท้ายกระดาษ 1.25 ซม.
2. การพิมพ์บทความ ให้จัดพิมพ์ด้วยโปรแกรม Microsoft Word รูปแบบตัวอักษรทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ใช้แบบอักษร TH SarabunPSK ขนาด 14 ในส่วนของเนื้อหา
คำแนะนำการเขียนส่วนประกอบของบทความ มีดังนี้
1. บทความวิจัย (Research article) เป็นบทความที่ได้มาจากงานวิจัย ประกอบด้วย
ส่วนปก
1. ชื่อบทความ (Title) ใช้อักษรแบบ TH SarabunPSK ขนาด 18 ตัวหนา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควรกระชับ ครอบคลุมเนื้อหา
2. ชื่อผู้เขียน (Authors) ใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้ระบุชื่อ-นามสกุลของผู้เขียนโดยไม่ต้องใส่คำนำหน้า นามสกุล ใส่ตัวเลขยกไว้บนนามสกุล
ของผู้เขียนตามลำดับ (ไม่เกิน 3 คน) และระบุตำแหน่งทางวิชาการ หน่วยงานที่สังกัด พร้อมไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประสานงานหลักไว้ที่เชิงอรรถ (อักษรขนาด 12 ปกติ) ตามลำดับ ทั้งนี้ให้ใส่เครื่องหมายดอกจัน (*) กำหนดเป็นตัวยกกำกับท้ายตัวเลขของผู้ประสานงานหลัก และระบุไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ของผู้ประสานงานหลัก
3. บทคัดย่อ (Abstract) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไม่ควรเกิน 300 คำ ควรครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์ วิธีการ ผลวิจารณ์และข้อสรุป เป็นต้น (ขนาด 14 ตัวปกติ)
4. คำสำคัญ (Keywords) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กำหนดเป็นคำสำคัญของชื่อเรื่องวิจัยเพื่อใช้สืบค้นในฐานข้อมูล 3-5 คำ
(ขนาด 14 ตัวปกติ)
ส่วนเนื้อหา
1. บทนำ (Introduction) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา อธิบายความสำคัญ สาเหตุที่มาของปัญหาการวิจัยรวมถึงทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (ขนาด 14 ตัวปกติ)
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา เป็นการชี้แจงถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษา (ขนาด 14 ตัวปกติ)
3. กรอบแนวคิด (Research Framework) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา ชี้แจงถึงความเชื่อมโยงตัวแปรต้นกับตัวแปรตามในการวิจัย (ขนาด 14 ตัวปกติ)
4. วิธีดำเนินการวิจัย (Research Methodology) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา อธิบายเครื่องมือ วิธีการทดลองและวิธีการดำเนินการวิจัยให้ชัดเจน (ขนาด 14 ตัวปกติ)
5. ผลการวิจัย (Results) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา บรรยายผลการวิจัย เสนอผลการทดลองให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หากมีภาพ แผนภาพ แผนภูมิ ตารางที่เกี่ยวข้องใส่ลงในส่วนของผลการวิจัยด้วย (ขนาด 14 ตัวปกติ)
1.กรณีมีรูปแบบตาราง ระบุคำว่า ตารางที่ พร้อมชื่อตาราง (ใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 14 ตัวหนา) และข้อความบรรยายใต้ตาราง
2. กรณีมีรูปภาพและกราฟประกอบ ให้ระบุคำว่า ภาพที่ / กราฟที่ พร้อมชื่อภาพหรือกราฟ (ใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 14 ตัวหนา) และข้อความบรรยายด้านใต้
6. อภิปรายผลการวิจัย (Discussion) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา
เป็นการอภิปรายผลการค้นพบที่สำคัญของงานวิจัยเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์หรือเป็นการเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่เคยมีผู้ค้นคว้ามาก่อน (ขนาด 14 ตัวปกติ)
7. สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ (Conclusion and Recommendations) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา เป็นการสรุปสาระสำคัญของการวิจัยรวมถึงให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน (ขนาด 14 ตัวปกติ)
8. กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments) (ถ้ามี) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา เป็นส่วนที่ผู้เขียนขอบคุณบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการทำผลงานวิจัยจนสำเร็จลงได้ด้วยดี (ขนาด 14 ตัวปกติ)
9. เอกสารอ้างอิง (References) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา การเขียนเอกสารอ้างอิง ใช้ระบบ APA Style 6th ed. (American Psychological Association) (ขนาด 14 ตัวปกติ)
2. บทความวิชาการ (Academic article) เป็นบทความที่มีลักษณะการทบทวนเอกสารงานวิจัยหลาย ๆ ครั้ง (Literature review) ประสบการณ์หรือความชำนาญของผู้เขียน (Professional practice) หรือบทความเกี่ยวกับนโยบายด้านต่าง ๆ ของหน่วยงาน (Policy paper) ประกอบด้วย
ส่วนปก ส่วนประกอบเหมือนบทความวิจัย (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
ส่วนเนื้อหา
1. บทนำ (Introduction) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา เป็นส่วนที่ผู้เขียนจูงใจให้ผู้อ่านเกิดความสนใจบทความ เป็นการกล่าวถึงที่มาของการเขียนบทความ วัตถุประสงค์ รวมถึงขอบเขต คำนิยาม คำจำกัดความต่าง ๆ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานผู้อ่านให้มีความเข้าใจตรงกัน (ขนาด 14 ตัวปกติ)
2. เนื้อเรื่อง (Body) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา ได้แก่เนื้อหาตามหลักวิชาการที่ผู้เขียนควรคำนึงถึง คือ กรอบแนวความคิดที่โยงจากเหตุไปสู่ผล การจัดลำดับเนื้อหา การเรียบเรียงเนื้อหา การวิเคราะห์วิจารณ์ การใช้ภาษาในการนำเสนอ รวมถึงการอ้างอิงในส่วนเนื้อหา เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน (ขนาด 14 ตัวปกติ)
3. ส่วนสรุป (Conclusions) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา ได้แก่ ส่วนสรุปประเด็นสำคัญ การนำไปใช้ประโยชน์ อาจตั้งประเด็นคำถามเพื่อให้ผู้อ่านได้นำไปพัฒนา นำไปสู่การได้ประเด็นค้นคว้า หรือแสวงหาความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน (ขนาด 14 ตัวปกติ)
4. กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgements) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา ได้แก่ส่วนที่ผู้เขียนขอบคุณบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการทำผลงานวิชาการจนสำเร็จลงได้ด้วยดี (ขนาด 14 ตัวปกติ)
5. เอกสารอ้างอิง (References) หัวข้อใช้อักษร TH SarabunPSK ขนาด 16 ตัวหนา การเขียนเอกสารอ้างอิง ใช้ระบบ APA Style 6th ed. (American Psychological Association) (ขนาด 14 ตัวปกติ)