การเปลี่ยนแปลงการอยู่อาศัยในโครงการอาคารชุดพักอาศัยราคาประหยัดที่ดำเนินการ โดยเอกชนที่ก่อสร้างในปี พ.ศ.2537: กรณีศึกษาโครงการ นิรันดร์ เรซิเดนซ์ 3
Main Article Content
บทคัดย่อ
ก่อนปี พ.ศ. 2530 บทบาทการจัดให้มีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นบทบาทของภาครัฐของการเคหะแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2530 รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ต่อมาปี พ.ศ. 2537 พบว่าเป็นปีที่ภาคเอกชนมีการพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามนโยบายของรัฐบาลมากที่สุด หนึ่งในนั้นมีโครงการนิรันดร์ เรซิเดนซ์ 3 รวมอยู่ด้วย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงลักษณะครัวเรือนของผู้อยู่อาศัย สภาพการอยู่อาศัย และปัญหาการอยู่อาศัยในอาคารชุดพักอาศัยราคาประหยัดในโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ดูแลอาคารชุด รวมถึงผู้อยู่อาศัย โดยดำเนินการวิธีวิจัยเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างผู้อยู่อาศัยในโครงการ จำนวน 379 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่เริ่มเข้าอยู่อาศัยและในปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนมีจำนวนการเข้าอยู่ช่วงเริ่มโครงการคือ ก่อนปี พ.ศ. 2541 ร้อยละ 14.25 จากนั้นจึงทยอยเข้ามาอยู่โดยช่วงปี 2542-2546 ร้อยละ 15.04 พ.ศ. 2547-2551 ร้อยละ 23.75 พ.ศ. 2552-2556 ร้อยละ 27.70 และ พ.ศ. 2557-2561 ร้อยละ19.26 ลักษณะการครอบครองในช่วงการเข้าอยู่พบว่า เป็นผู้เช่ารายเดือนจำนวนมากที่สุด ร้อยละ 56.61 รองลงมาเป็นกลุ่มที่ซื้อจากบุคคลอื่น ร้อยละ 26.65 และซื้อต่อจากโครงการ ร้อยละ 16.62 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาด้านการเปลี่ยนแปลงลักษณะครัวเรือนของผู้อยู่อาศัยพบว่า ส่วนใหญ่สมรสแล้ว แต่พบแนวโน้มการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น ส่วนจำนวนบุตรพบว่า ช่วงเข้าอยู่ใหม่ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ยังไม่มีบุตร แต่ในปัจจุบันผู้ที่มีบุตรมีสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนและเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงด้านการถือครองกรรมสิทธิ์ใน 2 ช่วงเวลา ผู้อยู่อาศัยมีการถือครองกรรมสิทธิ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ผู้เช่ารายเดือนยังคงมีปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือ ซื้อต่อจากบุคคลอื่น เมื่อดูการเปลี่ยนแปลงพบว่า ผู้เช่ารายเดือนมีสัดส่วนลดลงจากเดิมเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ที่ซื้อต่อจากบุคคลอื่นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาด้านปัญหาการอยู่อาศัยในโครงการ ด้านการอยู่อาศัยภายในห้องชุด พบว่าปัญหาด้านบรรยากาศภายในห้องชุดสูงขึ้นมากที่สุด รองลงมาเป็นปัญหาด้านขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในห้องชุด และระบบสาธารณูปโภคภายในห้องชุดตามลำดับ ส่วนปัญหาภายในชุมชน พบว่าในปัจจุบันมีระดับของปัญหาสูงกว่าตอนเริ่มเข้าอยู่ทั้ง 4 ด้าน โดยปัญหา
ด้านความหนาแน่นภายในชุมชนเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาเป็นด้านความปลอดภัยภายในชุมชน ความสะอาดภายในชุมชน จำนวนพื้นที่จอดรถและการจัดระเบียบ การบริหารจัดการดูแลชุมชน และความสัมพันธ์ภายในชุมชนตามลำดับ
Article Details
References
กรุงเทพฯ: ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.
คู่มือคอนโดมิเนียม. กรุงเทพฯ: บริษัท ดี.เอส.แลนด์, 2534.
ชาญณรงค์ สุทธิลักษณ์สกุล. “การใช้พื้นที่ภายในห้องพัก ประเภทอาคารชุดราคาถูก: กรณีศึกษา โครงการสินธนา แมนชั่น
(ถนนนวมินทร์) กรุงเทพมหานคร.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย, 2545.
นคร มุธุศรี. คู่มือคอนโดมีเนียม. กรุงเทพมหานคร: บี.บี.พริ้น, 2539.
บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส AREA. “โครงการอาคารชุดพักอาศัยราคาประหยัดในกรุงเทพฯและปริมณฑล, 2530-
2540.” สืบค้น 16 ตุลาคม 2560. https://www.area.co.th/thai/contact.php.
บุญญา แกล้วทนงค์. “การบริหารอาคารชุดที่อยู่อาศัยแบบผสม: กรณีศึกษา โครงการจิวเวลรี่เทรด เซ็นเตอร์ ถนนสีลม
กรุงเทพมหานคร.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2547.
“พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 67 ตอนที่ 29พ. หน้า 4. (2522, 30 เมษายน).
Cooke S. “Introduction to Marriage and the Family.” Accessed October 16, 2017. https://brewminate.com/social-
institutions-family-religion-and-education.
Harris, S. L. “Treatment of Family Problems in Autism.” In Behavioral Issues in Autism, 161-175.
Boston, MA.: Springer, 1994.
Sherkat, D.E. “Assessing Religious Dynamics.” In Religion, Families, and Health: Population-Based Research in
the United States, Christopher G. Ellison, Robert A. Hummer, eds, 406. New Brunswick, NJ.: Rutgers
University Press, 2010.
Strong, Bryan and Christine Devault. The Marriage and Family Experience. St. Paul, NY: West Publishing, 1992.
Teixeira de Melo, A. and M, Alarcão. “Beyond the Family Life Cycle: Understanding Family Development in the
Twenty-First Century through Complexity Theories.” Family Science 5, 1 (2014): 52-59.
Wells, W. D. and G., Gubar. “Life Cycle Concept in Marketing Research.” Journal of Marketing Research (1966):
355-363.