กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในโรงพยาบาลอาคารสูง
Main Article Content
บทคัดย่อ
ในปัจจุบันความต้องการด้านการรักษาพยาบาลที่มากขึ้นประกอบกับปัจจัยที่ดินมีจำกัดและราคาสูง รวมทั้งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง ส่งผลให้อาคารโรงพยาบาลในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอาคารสูงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ลิฟต์จึงมีบทบาทสำคัญต่ออาคารดังกล่าว บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในโรงพยาบาลอาคารสูง โดยมีวิธีการดำเนินการศึกษา คือศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบลิฟต์ และขั้นตอนงานสถาปัตยกรรมช่วงการออกแบบ ประกอบการสัมภาษณ์สถาปนิกจากบริษัทสถาปนิกที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการออกแบบโรงพยาบาลอาคารสูง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผลการศึกษา โดยคาดว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานต่อการศึกษาวิทยานิพนธ์ต่อไป
ผลของการศึกษาพบว่า กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในโรงพยาบาลอาคารสูงเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแนวความคิดในการออกแบบ (conceptual design) จนถึงช่วงการพัฒนาแบบก่อสร้าง (design development) ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของขั้นตอนการออกแบบ โดยกระบวนการดังกล่าวอาจประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องหลัก ๆ 3 ฝ่าย คือ สถาปนิก วิศวกร และผู้ผลิตลิฟต์ ซึ่งสถาปนิกจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการกำหนดองค์ประกอบของการออกแบบลิฟต์ในเบื้องต้นทั้งหมดจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานที่ผ่านมา โดยสถาปนิกจะส่งแบบร่างที่มีความชัดเจนในรายละเอียดของอาคารโรงพยาบาลแก่วิศวกรหรือผู้ผลิตลิฟต์ ซึ่งวิศวกรหรือผู้ผลิตลิฟต์ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องของจำนวนลิฟต์ ขนาดบรรทุกลิฟต์ และความเร็วลิฟต์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการวิเคราะห์การจราจรลิฟต์ด้วยวิธีการคำนวณ พร้อมทั้งสรุปข้อมูลจากการวิเคราะห์ ให้สถาปนิกพิจารณาปรับแก้ไขแบบต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของผู้บริหารโครงการและเจ้าของโครงการจะมีบทบาทในการพิจารณาและตัดสินใจสิ่งที่สถาปนิกนำเสนอ
นอกจากนี้กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในโรงพยาบาลอาคารสูงสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ คือกระบวนการออกแบบลิฟต์ที่มีวิศวกร และกระบวนการออกแบบลิฟต์ที่ไม่มีวิศวกร ซึ่งพบว่ากระบวนการออกแบบลิฟต์ที่มีวิศวกรจะเริ่มประสานการทำงานกับสถาปนิกตั้งแต่ช่วงแนวความคิดในการออกแบบ จึงง่ายต่อการปรับเปลี่ยนรายละเอียดจากคำแนะนำของวิศวกร แต่กระบวนการออกแบบลิฟต์ที่ไม่มีวิศวกร จะเป็นการประสานการทำงานร่วมกับผู้ผลิตลิฟต์ตั้งแต่ช่วงการออกแบบร่างขั้นต้น จึงยากต่อการปรับเปลี่ยนรายละเอียดจากคำแนะนำของผู้ผลิตลิฟต์
Article Details
References
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. (2562). ธุรกิจโรงพยาบาลและสถานบริการพยาบาล บทวิเคราะห์ธุรกิจ ประจำเดือน มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2564, จาก www.dbd.go.th
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. กองแบบแผน. (2558). คู่มือการออกแบบอาคารสถานบริการสุขภาพและสภาพแวดล้อม ฉบับ ทั่วไป. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2564, จาก https://dcd.hss.moph.go.th
ชำนาญ ห่อเกียรติ. (2551). วิธีการเลือกใช้ลิฟต์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ: สมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2564, จาก http://www.elevatordesigner.com
บัณฑิต จันทร์บางพลี. (2556). การซ่อมบำรุงลิฟต์ส่งของแบบมีห้องเครื่อง. (รายงานสหกิจศึกษาระดับปริญญาตรี, มหาวิทยาลัยสยาม).
พิมพ์ชนก อร่ามเจริญ. (2562). การสัญจรทางตั้งภายในโรงพยาบาล กรณีระบบลิฟต์ในอาคารสูงของโรงพยาบาลที่มีหอผู้ป่วยใน. (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. คณะผู้จัดทำมาตรฐานระบบลิฟต์. (2562). มาตรฐานระบบลิฟต์ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี. (2554). ระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2547). คู่มือสถาปนิก 2547 เล่ม 1. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2564, จาก https://asa.or.th/handbook/handbook2547
Strakosch, George, R. & Caporale, Robert, S. (2010). The vertical transportation handbook (Fourth Edition). Hoboken, NJ: John Wiley & Sons.
So, Albert & Al-Sharif, Lutfi. (2015, January). Elevator traffic analysis: Analytical versus simulated. Elevator World, 63(1), 98-101.