ลักษณะพื้นที่สีเขียวโครงการคอนโดมิเนียมที่ยื่นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2562 ในเขตกรุงเทพมหานคร

Main Article Content

พนิตนันท์ งามลิขิตเลิศ
อังสนา บุณโยภาส
บุษรา โพวาทอง

บทคัดย่อ

พื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความน่าอยู่ของการอยู่อาศัย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะในการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวในโครงการคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานคร โดยได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในช่วงปีพ.ศ. 2557 - 2562 โดยศึกษาเฉพาะโครงการราคาประหยัด ( Economy Class) และโครงการราคาปานกลาง (Main Class) รวม 175 โครงการ ซึ่งแต่ละระดับราคาแบ่งตามขนาดโครงการ ได้แก่ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมทั้งได้ใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบและพิจารณาหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับราคา ขนาดโครงการ กับลักษณะการจัดพื้นที่สีเขียวของโครงการ รวมถึงเทียบเคียงกับเกณฑ์ข้อกำหนด


ผลการศึกษาพบว่าในช่วงปีที่เลือกศึกษามีคอนโดมิเนียมยื่นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 529 โครงการ โดยสามารถจำแนกออกได้ดังนี้ 1) คอนโดมิเนียมกลุ่มราคาประหยัดมีอยู่ร้อยละ 41 ขณะที่ราคาปานกลางมีร้อยละ 59 โดยทั้งสองกลุ่มแบ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กคิดเป็นร้อยละ 43 ร้อยละ 31 และร้อยละ 26 ตามลำดับ 2) ลักษณะพื้นที่สีเขียวที่กำหนดในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย 5 คุณลักษณะ คือลักษณะการใช้งาน ลักษณะพื้นผิว ขนาดพื้นที่ ตำแหน่งพื้นที่ และลักษณะพืชพันธ์ 3) คอนโดมิเนียมระดับราคาสูงกว่ามีสัดส่วนการจัดพื้นที่สีเขียวมากกว่าในคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่าถึงร้อยละ 15 ต่อพื้นที่โครงการ 4) โครงการที่มีขนาดใหญ่กว่ามีการจัดให้มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวมากกว่าในโครงการขนาดเล็กถึงร้อยละ 17 ต่อพื้นที่โครงการ 5) เมื่อพิจารณาเกณฑ์ในการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวกับข้อกำหนดในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่าโครงการระดับราคาต่ำกว่าจัดพื้นที่สีเขียวในสัดส่วนเกินเกณฑ์มากกว่าโครงการราคาสูง ทั้งนี้ พบว่าโครงการจะมีการจัดให้มีพื้นที่ว่างมากกว่าเกณฑ์ โดยสูงสุดถึงร้อยละ 67 ขณะที่เกณฑ์สัดส่วนพื้นที่สีเขียว 1 ตร.ม.ต่อผู้อยู่อาศัย 1 คนถึงมีการจัดให้เกินเกณฑ์ แต่ก็อยู่ในสัดส่วนต่ำกว่าเกณฑ์ข้ออื่น


จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าลักษณะพื้นที่สีเขียวในคอนโดมิเนียมมีการจัดแตกต่างกันตามระดับราคาและขนาดโครงการ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่โครงการต่าง ๆ มีการจัดพื้นที่สีเขียวมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดผลการศึกษาจะเป็นข้อมูลสำคัญต่อการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้กับโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงโดยเฉพาะโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กและราคาต่ำซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อนำไปสู่การเป็นจุดขายและการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในคอนโดมิเนียมต่อไป

Article Details

บท
บทความวิชาการ

References

กรุงเทพมหานคร. (2562). จำนวนและสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร. สืบค้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563, จาก http://www.onep.go.th/env_data/2019/

คณิศร์ อภิสิทธิพิชญ์. (2559). ความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยต่อการออกแบบทางกายภาพในโครงการคอนโดมิเนียมระดับราคาปานกลางและระดับราคาสูง: กรณีศึกษา โครงการ เดอะ แชปเตอร์วัน แคมปัส ลาดพร้าว 1และโครงการ เดอะ รีเซิร์ฟเกษมสันต์ 3 .(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).

DD Property. (2562). พฤติกรรมผู้บริโภค “เปลี่ยน” คอนโดฯแต่ละ Segment บ่งบอกความต้องการซื้ออย่างไร? สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2562, จาก https://www.ddproperty.com/

Thinkofliving. (2562). ประเภท Segment ของคอนโดมิเนียมและบ้านแนวราบ กับการรีวิวเจาะลึก. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2562, จาก https://thinkofliving.com/

รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม. (2563). สํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ฐานข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการประเภทอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2563, จาก http://eia.onep.go.th/

Livinginsider. (2562). 8 ระดับ Segment คอนโด ในเมืองไทย. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2562, จากhttps://www.livinginsider.com/inside_topic/

ไอริณ ภานุวัฒน์วนิชย์. (2557). คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยที่เกิดจากพื้นที่สีเขียวภายในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ระดับราคาปานกลาง.(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).

Home247. (2562). การแบ่ง SEGMENT คอนโดที่น่าสนใจ. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2562, จาก https://www.home247.co/