พฤติกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน : กรณีศึกษา ผู้นำชุมชนในเขตอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับพฤติกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ
ชุมชนความภาคภูมิใจในตนเอง การได้รับการสนับสนุนจากชุมชน การได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกชุมชน การมีสัมพันธภาพกับประชาชน และผู้นำคนอื่นๆ ของผู้นำชุมชน 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จำแนกตามอายุ สถานภาพสมรส การประกอบอาชีพ รายได้ การศึกษา ตำแหน่งในชุมชน ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำชุมชน และ 3) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนกลุ่มตัวอย่างการวิจัยเป็น ผู้นำชุมชน จำนวน 298 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่นำเข้าสมการ ผลการวิจัยพบว่า ผู้นำ ชุมชน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกชุมชนในระดับปานกลาง มีความภาคภูมิใจในตนเอง การได้รับการสนับสนุนจากชุมชน การมีสัมพันธภาพกับประชาชน และผู้นำคนอื่นๆ และพฤติกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอยู่ในระดับมาก พฤติกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เมื่อจำแนกตามอายุ สถานภาพสมรส การประกอบอาชีพ รายได้ การศึกษา ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง พบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน เมื่อจำแนกตามตำแหน่งในชุมชนพบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระดับ .05 การมีสัมพันธภาพกับประชาชนและผู้นำคนอื่นๆ ความภาคภูมิใจในตนเองสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ได้ร้อยละ 75.80 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .001