การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์: ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ จังหวัดเพชรบุรี

ผู้แต่ง

  • อารี ภาวสุทธิไพศิฐ

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ: จังหวัดเพชรบุรี เป็นงานวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) พัฒนากิจกรรมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์สำหรับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำำ 2) ศึกษาผลการทดลองใช้กิจกรรมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำในด้านกระบวนการ ผลผลิต ผลกระทบ และความยั่งยืนโดยผู้วิจัยทำการพัฒนากิจกรรมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำแล้วนำกิจกรรมไปทดลองใช้กับเด็กนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเขาย้อยวิทยา จำนวน 35 คน โดยมีผู้ร่วมดำเนินกิจกรรมประกอบด้วยครู 2 คน และปราชญ์ชาวบ้าน 1 คน รวม 38 คน และประเมินผลการจัดกิจกรรมกับทั้ง 38 คนนี้ประกอบกับผู้เข้าชมกิจกรรมอีก 63 คนรวม 101 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แนวคำถามและแบบสำรวจชุมชน 2) กิจกรรมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ที่ได้พัฒนาขึ้น 3) แบบประเมินผลกิจกรรม 4) แนวสัมภาษณ์เพื่อประเมินผลกิจกรรม 5) แนวการสนทนากลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Methods) ผลจากการศึกษาพบว่า การพัฒนากิจกรรมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์สำหรับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำำ ผู้วิจัยพัฒนากิจกรรมโดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาบริบทชุมชนของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบวกกับข้อมูลจากการศึกษาชุมชน และนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์สถานการณ์ (SWOT Analysis) และนำผลที่ได้มาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนากิจกรรมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ชื่อ “กิจกรรมตามรอยอาหารไทยทรงดำ” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 7 กิจกรรม และทำการประเมินผลกิจกรรมทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ครอบคลุมด้านกระบวนการทำงาน ผลผลิต ผลกระทบ และความยั่งยืนจากโครงการ สำหรับวัตถุประสงค์การวิจัยข้อ 2 นั้นผลการวิจัยพบว่า 1) ด้านกระบวนการ ผู้เรียนได้รับประสบการณ์การพัฒนาการทำงานร่วมกับคนอื่น การศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองและการแก้ไขปัญหา ได้ฝึกฝนทักษะการคิด จินตนาการ และสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่างๆ จากกิจกรรมศึกษาเชิงสร้างสรรค์ 2) ผลด้านผลผลิต พบว่าการที่ผู้เรียนได้แสดงออกถึงความคิด จินตนาการทำให้มีความสุข ความพอใจ และความภาคภูมิใจในตนเองได้รับความรู้ทั้งความรู้ที่เป็นเนื้อหาของกิจกรรม และความรู้อื่นๆที่เกี่ยวข้อง และได้แสดงออกถึงศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ผ่านผลงานสร้างสรรค์แบบต่างๆ 3) ผลด้านผลกระทบ พบว่านักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ 4) ผลด้านความยั่งยืนเกิดได้จากการที่ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติจริงทั้งในชีวิตประจำวันและในการเรียนการสอนในโรงเรียน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2013-12-19

ฉบับ

บท

บทความวิจัย