การพัฒนารูปแบบการรับรองปริญญาทางการศึกษา เพื่อการประกอบวิชาชีพ

ผู้แต่ง

  • ประกอบ คุณารักษ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบการรับรองปริญญาทางการศึกษาเพื่อการประกอบ
วิชาชีพ ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ควบคุมมาตรฐาน จำนวน 22 คน
2) กลุ่มผู้ผลิตบัณฑิต จำนวน 92 คน และ 3) กลุ่มผู้ใช้บัณฑิต จำนวน 49 คน เครื่องมือที่ใช้ในการ
เก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง แบบสอบถามความคิดเห็น และแบบประเมินรูปแบบการรับรองปริญญาทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2555 วิเคราะห์โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการรับรอง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1: มาตรฐานและเกณฑ์การรับรอง ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.1) มาตรฐานหลักสูตรและเกณฑ์การรับรอง 1.2) มาตรฐานการผลิตและเกณฑ์การรับรอง 1.3) มาตรฐานบัณฑิตและเกณฑ์การรับรอง และ 1.4) การติดตามผลการรับรองและเกณฑ์การรับรอง ส่วนที่ 2: วิธีการและขั้นตอนการพิจารณาหลักสูตรเพื่อรับรอง ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 2.1) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินมาตรฐานหลักสูตรและมาตรฐานการผลิต 2.2) การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ 2.3) การตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินสภาพจริง และ 2.4) การพิจารณารับรอง และ ส่วนที่ 3: ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 3.1) คู่มือการใช้รูปแบบการรับรองปริญญาทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ 3.2) ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรอง 3.3) ค่าใช้จ่ายในกระบวนการรับรอง 3.4) ผู้ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากคณะอนุกรรมการประเมินมาตรฐานหลักสูตรและมาตรฐานการผลิต และ 3.5) การประกันคุณภาพภายในและภายนอกตามเกณฑ์การประเมิน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2014-12-15

ฉบับ

บท

บทความวิจัย