การพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและจิตวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยการสืบเสาะหาความรู้แบบ 5E
คำสำคัญ:
ความสามารถในการคิดแก้ปัญหา / กระบวนการสืบเสาะหาความรู้แบบ 5E / จิตวิทยาศาสตร์บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาพร้อมศึกษาจิตวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 หลังได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยการสืบเสาะหาความรู้แบบ 5E กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นเด็กปฐมวัย จำนวน 23 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนบ้านลาดใหญ่สามัคคี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์ด้วยการสืบเสาะหาความรู้แบบ 5E จำนวน 8 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย แบบสังเกตพฤติกรรมตามคุณลักษณะของจิตวิทยาศาสตร์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ (%)ค่าเฉลี่ย () ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และทดสอบค่าที t – test Dependent
ผลการวิจัย พบว่า ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 หลังการจัดประสบการณ์ด้วยการสืบเสาะหาความรู้แบบ 5E มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 22.13 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของผู้อื่นสูงกว่าปัญหาของตนเองที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ส่วนจิตวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยหลังได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยการสืบเสาะหาความรู้แบบ 5E ภาพรวม มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับดี เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านความซื่อสัตย์มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด