การศึกษาวิธีการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่มีลูกหูหนวกที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองสูง

ผู้แต่ง

  • อารี ภาวสุทธิไพศิฐ
  • รานี เสงี่ยม
  • เพ็ญพักตร์ แก้วดี

คำสำคัญ:

การเลี้ยงดูบุตร, การเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเอง, คนหูหนวก

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกของครอบครัวที่มีลูกหูหนวกที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองสูง   และอุปสรรคในการอบรมเลี้ยงดูลูกของครอบครัวที่มีลูกหูหนวกที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองสูง กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ ครอบครัวของนักศึกษาหูหนวกที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองสูงของวิทยาลัยราชสุดา จำนวน 7 ครอบครัว  คัดเลือกโดยใช้วิธีการยึดจุดมุ่งหมายของการศึกษาเป็นหลัก  ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบตรวจสอบรายการเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน  และแบบสัมภาษณ์การอบรมเลี้ยงดูบุตรที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองสูง  การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ ความถี่ ค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า  ผู้ปกครองของเด็กหูหนวกที่มีระดับความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองสูง มีรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูบุตร 3 แบบคือ 1) แบบประชาธิปไตย  2) แบบรักถนอมมากเกินไป  3) แบบการเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก   และผู้ปกครองไม่ได้มีจุดมุ่งหมายของการอบรมเลี้ยงดูลูกเพื่อต้องการให้ลูกเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างชัดเจน แต่จากรูปแบบของการอบรมเลี้ยงดูลูกที่พ่อแม่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูที่เอื้อให้ลูกมีคุณลักษณะของผู้ที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองบางประการ คือ ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ และความรักในการเรียนรู้    สำหรับอุปสรรคในการอบรมเลี้ยงดูลูกของครอบครัวที่มีลูกหูหนวกที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองสูง     พบว่าผู้ปกครองมีอุปสรรคในการอบรมเลี้ยงดูลูก 2 ประการคือ 1) อุปสรรคในส่วนของผู้ปกครอง  2) อุปสรรคในส่วนของตัวลูก  

เผยแพร่แล้ว

2015-09-24