การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่บูรณาการกลยุทธ์การพัฒนาทักษะ การคิดขั้นสูงเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

ผู้แต่ง

  • จินตนา ศิริธญญารัตน์
  • วิสาข์ จัติวัตร์

คำสำคัญ:

รูปแบบการเรียนการสอน / การคิดขั้นสูง / จิตวิทยาศาสตร์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่บูรณาการกลยุทธ์ การพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 และจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา  2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลและขยายผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้  ในการขยายผลการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่3โรงเรียนราชวินิตมัธยม เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบ แบบประเมิน แบบบันทึก แบบสังเกต และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่แบบไม่อิสระและแบบอิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัย พบว่า

1.  รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่บูรณาการกลยุทธ์การพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 และจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษามีชื่อว่า “PIAEIED Model”  มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการเรียนการสอนมี 7 ขั้นตอน คือ (1) เตรียมความพร้อมด้านความรู้และทักษะที่จำเป็น (2) ร่วมกันตั้งคำถามเพื่อการสืบเสาะและการแก้ปัญหา (3) ร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกความรู้และแนวทางการแก้ปัญหา (4) ประเมินผลแนวทางการแก้ปัญหาและระบุวิธีการแก้ปัญหา (5) ดำเนินการสืบเสาะและแก้ปัญหา (6) ขยายความรู้ (7) การพัฒนาและเผยแพร่ผลงาน มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ  83.86/84.14 

2.  ผลการศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบและผลการขยายผล พบว่า หลังการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนและจิตวิทยาศาสตร์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 ด้านการคิดเชิงวิพากษ์และ                     จิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนมีพัฒนาการสูงขึ้นในช่วงเวลาระหว่างเรียน ทักษะการคิดขั้นสูงด้านการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนอยู่ในระดับดี และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนอยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด

เผยแพร่แล้ว

2015-09-25