การปฏิรูประบบวิจัยการศึกษาไทยในทศวรรษหน้า

ผู้แต่ง

  • ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

บทคัดย่อ

โครงการวิจัยนี้มี วัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับแนวทางปฏิรูประบบวิจัยด้านการศึกษาของไทยอย่างเป็นรูปธรรม ขอบเขตการศึกษาครอบคลุมมิติระบบวิจัยการศึกษาทั้งฝั่งอุปสงค์และฝั่งอุปทาน  6องค์ประกอบ ได้แก่ (1) การกำหนดนโยบายวิจัย (2) การกำหนดโจทย์วิจัย (3) การพัฒนานักวิจัย (4) การบริหารและจัดสรรทรัพยากร (5) การประเมินคุณภาพงานวิจัย และ (6) การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย  โครงการวิจัยนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบสหวิธีการ โดยวิเคราะห์เอกสาร สัมภาษณ์เชิงลึก และจัดประชุมปฏิบัติการ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มการอุดมศึกษา กลุ่มการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มการอาชีวศึกษา และกลุ่มในภาพรวม จากนั้นนำมาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม เพื่อพัฒนา ทบทวน และสรุปเป็น “ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบวิจัยการศึกษาไทยในทศวรรษหน้า”8 ประการ คือ (1) กำหนดให้ “วิจัยการศึกษา” เป็น “วาระยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ” (2) จัดตั้ง “องค์กรวิจัยการศึกษาของประเทศ”  (3) ใช้งานวิจัยเป็นฐานกำหนดนโยบาย ติดตาม และประเมินผลนโยบายการศึกษาของประเทศ (4) จัดสรรทุน/งบประมาณและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการระดมทุน/ทรัพยากรร่วมจากภาคีอื่น (5) พัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง มีความก้าวหน้าในอาชีพนักวิจัย และดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถเข้าสู่เวทีวิจัย (6) พัฒนาระบบประเมินผลวิจัยเชิงบูรณาการ (7) สร้างกลไกงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง สนองตรงต่อความต้องการใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และ (8) พัฒนาระบบวิจัยแบบก้าวกระโดด

เผยแพร่แล้ว

2016-03-13

ฉบับ

บท

บทความวิจัยพิเศษ