โครงการ ไหมไทยสู่สากล

Main Article Content

ดร.ถิรวัฒน์ แจ่มกระจ่าง
บรรจง ฉุดพิมาย
พรกนก นิยมศิลปะ

บทคัดย่อ

โครงการไหมไทยสู่สากล Cap Corner Stone (CCS) ภายใต้ชื่อ “Silk de Mancha” มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนที่เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้ไปทั่วโลกโดยมุ่งเน้นองค์ประกอบ และปัจจัยด้านความยั่งยืน ทางคณะ นสช.ค้นพบพื้นที่ ที่มีความทุรกันดารและห่างไกลแห่งหนึ่ง เรียกว่า “มัญจาคีรี” นักศึกษา นสช.เช้ก รุ่นที่ 3 ได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการมัญจาคีรีโมเดล เพื่อให้สอดคล้องในการถอดบทเรียนของสถาบันการสร้างชาติ ว่าด้วยการ คิดค้นและการพัฒนาชุมชนด้วยโครงการเล็กให้มีผลลัพธ์ใหญ่ในมุมกว้าง ต่อเนื่องมาตลอดถึง นสช.รุ่นที่ 7 ซึ่งได้ค้นพบผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่ไม่ธรรมดา นั่นคือผ้าไหมอีรี่ ที่มีความโดดเด่นมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากไหมทั่วไป คือ เวลาสัมผัสนุ่มเหมือนขนสัตว์ มองดูเหมือนผ้าฝ้ายให้ความรู้สึกนุ่มนวลเหมือนไหมแท้ ดูแลง่ายมากกว่าผ้าไหมทั่วไป และเป็นพันธุ์ไหมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การย้อมสีจะใช้สีจากต้นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติในท้องถิ่นอีกด้วย


            นสช.เช้ก 7 ได้ดัดแปลงรูปแบบต่าง ๆ และเพิ่มไลน์สินค้า ได้ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายสำหรับผู้ที่มีความหลงใหลในผ้าไหมอีรี่เท่าที่ควร เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของไหมอีรี่นี้ ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัยในการส่งเสริมการขายที่ยังไม่รวมตัวเข้าด้วยกัน และด้วยข้อจำกัดในความรู้ทางด้านการตลาดของคนในชุมชน นสช.เช้ก 7 ถอดแบบแนวคิดการพัฒนาแบบบูรณาการของ ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ ผ่านสามภาคส่วนคือ ภาคประชากิจ,ภาคธุรกิจ และภาครัฐกิจ


            นสช.เช้ก 7 นำแนวคิดใหม่ มาคิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม มีผลิตภัณฑ์เป็นต้นแบบที่ควรค่าต่อการจารึกคือ การนำผ้าไหมอีรี่มาหุ้มเก้าอี้ และได้นำทูลเกล้าถวายแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และหมวกสไตล์ Gatsby เพื่อให้สินค้าเป็นที่น่าจดจำ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งจะไม่มุ่งเน้นเพียงแค่เครื่องนุ่งห่ม เพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอีรี่


            นสช.เช้ก 7 ได้ออกแบบโลโก้ และตราสัญลักษณ์ “Silk de Mancha” ในช่วงเวลาที่ นสช.เช้ก 7 ให้การสนับสนุนไหมอีรี่ ก็ได้รับข้อมูลว่าชาวบ้านในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้ชาวบ้านภาคภูมิใจที่ได้สืบทอดงานฝีมือ การปรับปรุงดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมีแรงบันดาลใจ และสืบสานภูมิปัญญา มีความกระตือรือร้นที่จะหันกลับมาทอผ้าไหมมากขึ้น และพร้อมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอีรี่ออกสู่ตลาดโลก หวังว่าผ้าไหมอีรี่จะเป็นที่นิยม และผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย