Editor Talk
Main Article Content
Abstract
MFU Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences เป็นวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่อุทิศพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน เสนอองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทั้งที่ตัดข้ามและเชื่อมต่อพรมแดน ทั้งพรมแดนความรู้ข้ามศาสตร์ พรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์ พรมแดนทางวัฒนธรรม พรมแดนทางเศรษฐศาสตร์ พรมแดนของทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และอีกหลายพรมแดนที่อาจก่อเกิดในอนาคตของโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน (Disruption) ด้วยเจตนารมณ์ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็น “จุดเชื่อมต่อ” ใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในบางคราว และก็เป็น “จุดสกัดกั้น” ในบางเวลา และจากประสบการณ์ของการจัดพิมพ์วารสารมากว่า 8 ปี ทำให้มีข้อสังเกตว่าพรมแดนเป็นพื้นที่ที่มีการขับเคี่ยว เปลี่ยนแปลง ปรับตัวเป็นพลวัต ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม เช่น การอุบัติของโรคระบาด ความคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ กระแสการพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมกลุ่ม วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตของการพัฒนา
ห้วงเวลาที่ดำเนินการเพื่อจัดพิมพ์ MFU Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences Vol. 9 No. 1 (2020) คือช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกรายงานผู้ติดเชื้อทั่วโลก 8,860,331 คน ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2563 (WHO, 2020) การอุบัติของ “โรคระบาดใหญ่” ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก ได้สร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเดินทางเคลื่อนย้าย ความเชื่อมโยง และการจัดการหรือมุมมองต่อพรมแดนและการข้ามพรมแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังได้ตอกย้ำข้อเท็จจริงอย่างน้อย 4 ประการ คือ (1) การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นเรื่อง “ข้ามพรมแดน” และรัฐชาติใด ๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการสร้างมาตรฐานใหม่ร่วมกัน (2) วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบและมีความเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ วิถีการดำรงชีวิต งานในอนาคต การขนส่ง ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยแยกส่วน หากแต่ต้องใช้วิธีคิดแบบบูรณาการในการแก้ปัญหา (3) การระบาดใหญ่ของ โควิด-19 แม้จะเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ แต่ก็ถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมือง ทั้งการเมืองภายในประเทศที่ใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้างในการแทรกแซงความเป็นส่วนตัวของประชาชนด้วยการออกมาตรการหรือกฎหมายพิเศษต่าง ๆ หรือประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศที่จะกีดกันหรือใช้โรคระบาดเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจหรือการสร้างอำนาจต่อรอง (4) ในวิกฤตการณ์การระบาดของ โควิด-19 มาตรการทางสาธารณสุข ตลอดจนมาตรฐานช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากลึกและคงดำรงอยู่ในสังคม
MFU Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences แม้จะไม่ได้มีการกำหนดแนวเรื่องในแต่ละฉบับที่เผยแพร่ แต่เปิดพื้นที่ให้กับบทความวิจัยและบทความวิชาการในสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีจุดเน้นไปที่การศึกษาเกี่ยวกับ ชาติพันธุ์ ศาสนา การท่องเที่ยว ความเป็นเมือง การอพยพย้ายถิ่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม พลวัตและการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน และประเด็นของการข้ามพรมแดนและข้ามเขตแดน
วารสารฉบับนี้ เผยแพร่บทความ 9 บทความ ครอบคลุมในประเด็นที่น่าสนใจ 5 ประเด็น คือ (1) การทบทวนข้อถกเถียงว่าด้วยการเกษตรและอาหารในฐานะวาระการวิจัยและพัฒนาใหม่ (2) การผลิตและบริโภคอาหารอินทรีย์ (3) มาตรฐานการขนส่งข้ามพรมแดนและการพัฒนาการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ (4) บทบาทการแพทย์ชนบทในการนโยบายสาธารณสุขไทย และ (5) การท่องเที่ยวชุมชน การรื้อฟื้นการขับลื้อของขาวไทลื้อ และการรวมกลุ่มของแฟนคลับนางงาม ชายรักชาย
บัวพันธ์ พรหมพักพิง และมุกดา วงค์อ่อน (2020) ได้ตั้งคำถามกับการเกษตรและการผลิตอาหาร ใน “การเกษตรและอาหาร: ประเด็นปัญหาเก่าในวาระใหม่ของการวิจัยและการพัฒนา” โดยชี้ให้เห็นประเด็นว่า การผลิตอาหารไม่ได้เป็นเพียงวาระการพัฒนาที่มีการถกเถียงมาช้านาน ที่นักพัฒนามุ่งเน้นที่จะหาวิธีการที่ผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภาพสูงสุด และถูกครอบงำด้วยฐานคิดแบบคลาสสิก เน้นการผลิตเชิงปริมาณแบบอุตสาหกรรม อาศัยการแบ่งงานกันทำ และเทคนิคการผลิตที่ใช้ทรัพยากร เคมี และเทคโนโลยีเข้มข้น มองว่าการผลิตภาคเกษตรเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการผลิตสูงที่สุด แต่กระนั้น แม้ว่าปริมาณอาหารที่ผลิตได้จะมีมากขึ้นเพียงใดก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนอดอยากหรือความมั่นคงทางอาหารจะเพิ่มมากขึ้น แนวคิดคลาสสิกที่ใช้และเชื่อกันมาอย่างยาวนานจึงได้ปะทะกันอย่างรุนแรงกับแนวคิดที่มองว่าการผลิตอาหารเป็นแนวคิดเชิงระบบที่ต้องมองเห็นเกษตรกรรายย่อยและการผลิตอาหรอย่างเชื่อมโยง บูรณาการข้ามศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง โดยเน้นฐานคิดเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ระบอบอาหาร และอธิปไตยทางอาหารเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งความเข้าใจในการปะทะและทางแยกนี้ เป็นประเด็นและวาระการวิจัยที่สำคัญในห้วงเวลานี้
เก นันทะเสน และวราภรณ์ นันทะเสน (2020) ในบทความ “การเปรียบเทียบต้นทุนสุขภาพและต้นทุนและผลตอบแทนการปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีและแบบอินทรีย์ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเขตจังหวัดพะเยา” ได้ศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตข้าวโดยชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรที่ใช้สารเคมีในการปลูกข้าว มีค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวจากการเจ็บป่วยมากกว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวแบบอินทรีย์มากถึง 8 เท่า และต้นทุนในการปลูกข้าวแบบเคมีโดยรวมก็สูงกว่าด้วย ในขณะที่ Duangta Duangekanong (2020) ในบทความ “Factors Influencing Consumers Purchase Intention for Organic Food Products in Thailand” ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแบบอินทรีย์ในประเทศไทย โดยใช้วิธีการสำรวจและการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสถิติ ซึ่งพบว่าความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ข้อห่วงกังวลต่อสิ่งแวดล้อม ความเชื่อถือในสถาบันผู้รับรองสินค้าอินทรีย์ การคาดการณ์ความเสี่ยงเป็นอิทธิพลเชิงบวกที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ ในขณะที่ความอ่อนไหวของราคาเป็นอิทธิพลเชิงลบในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์
นอกจากการถกเถียงเรื่องระบอบการผลิตอาหาร และงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารอินทรีย์จากมุมมองผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้ว บทความวิจัยอีก 2 บทความ ได้ศึกษาประเด็นเรื่องของการขนส่งข้ามพรมแดน และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยบทความแรกของ จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา (2020) “รูปแบบองค์การเพื่อการจัดการการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งข้ามแดนและผ่านแดน” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีของนานาชาติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและขนส่งข้ามแดนและผ่านแดน และถอดบทเรียนเพื่อเสนอแนวทางในการดำเนินงานของไทย คือให้จัดตั้งคณะกรรมการการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ โดยเสนอองค์ประกอบของคณะกรรมการและเน้นว่าประธานของคณะกรรมการชุดนี้ควรนายกรัฐมนตรี อีกบทความเรื่อง “การพัฒนาธุรกิจการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศในประเทศไทย” โดย มาลินี ขจรบริรักษ์, นันทวัน อินทชาติ, นปภา ภทรกมลพงษ์ เป็นการนำเสนอบทความวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งพัฒนา มาตรฐานและรูปแบบขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศในประเทศไทย โดยการศึกษามาตรฐานการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศในต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะว่าการพัฒนาธุรกิจการเคลื่อนย้ายทางอากาศอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมี (1) ความมือระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (2) การพัฒนาองค์ประกอบของธุรกิจการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ได้แก่ องค์ประกอบด้านลูกค้า
ในด้านการผลักดันเชิงนโยบายสาธารณสุข บทความเรื่อง “บทบาทของขบวนการแพทย์ชนบทในการผลักดันนโยบายสาธารณะ ศึกษากรณีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของ พรสวรรค์ จันทรัตน์ ศึกษาแนวทาง ประวัติความเป็นมา บทบาท และการถอดบทเรียนขบวนการแพทย์ชนบท เชื่อมโยงกับการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านกรอบแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา โดยคลี่ให้เห็นถึงภาคี และการผลักดันนโยบายอย่างเชื่อมโยง
สามบทความวิจัยส่งท้าย เป็นเรื่องของพลังของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยว โดย ศรัญญา เนียมฉาย และประสพชัย พสุนนท์ ใน “การวิเคราะห์องค์ประกอบการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว กรณีศึกษา ตลาดโบราณบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ” ใช้วิธีการเชิงปริมาณเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในขณะที่ รัตนะ ตาแปง และสุดาพร นิ่มขำ ใน “การรื้อฟื้นศิลปะการขับลื้อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาและบ้านนายางใต้” ตั้งคำถามกับภาวการณ์เกือบสูญหายของการขับลื้อ และกระบวนการรื้อฟื้นศิลปะการแสดงขับลื้ออันเกิดจากการปรับตัวใน 3 รูปแบบ คือ การขับลื้อในประเพณีท้องถิ่นรูปแบบใหม่ การนำการขับลื้อเข้าสู่หลักสูตรของโรงเรียนผ่านวิทยากรท้องถิ่น และการนำความรู้เผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์การรื้อฟื้นศิลปะการขับลื้อของกลุ่มชาติพันธ์ไทลื้อ ส่วนบทความโดย สุเมธ ชัยไธสง และสมสุข หินวิมาน “พัฒนาการการรวมกลุ่มของแฟนคลับชายรักชายต่อการประกวดนางงาม: จากนางสาวสยามสู่มิสยูนิเวิรส์ไทยแลนด์” ใช้แนวคิดเรื่องแฟน (Fan) และ แฟนดอม (Fandom) เพื่ออธิบายความชื่นชอบตัวบทนางงาม และใช้แนวคิดเรื่องตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศ ในการศึกษาพัฒนาการของการประกวดนางงามในประเทศไทย โดยแยกเป็น 3 ยุค ได้แก่ “ยุคจากดอกไม้ของชาติสู่ความบันเทิงของบุรุษเพศ” “ยุคจากผู้รับสารเข้าสู่การเป็นแฟนปัจเจกของชายรักชาย”และ “ยุคจากแฟนปัจเจกเข้าสู่การเป็นแฟนคลับของกลุ่มชายรักชาย”ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบผสมผสาน ทั้งอัตชาติพันธุ์วรรณนา ที่ผู้วิจัยเป็นส่วนหนึ่งของชายรักชายผู้ชื่นชอบนางงาม การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก และชี้ให้เห็นว่าการที่กลุ่มชายรักชายเข้าสู่ความเป็นแฟนและแฟนคลับมีปัจจัยสำคัญคือ “เพศสภาพ” ในยุคแรก ตัวบทการประกวดนางงามเป็นสารที่เกี่ยวกับ “ความเป็นหญิง” ในฐานะความรื่นรมย์ของผู้ชาย ส่วนในยุคที่สองและสามที่มีการก่อตัวของกลุ่มแฟนและแฟนคลับชายรักชาย ก็มีตัวแปรเรื่องเพศสภาพเป็นปัจจัยเช่นกัน ทว่า ตัวบทนางงามถูกเสพในฐานะ “ตัวแทนของฉัน” และ “สงครามตัวแทน” เพื่อเติมเต็มจินตนาการทางเพศ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงการติดกับดักการแบ่งขั้วชาย-หญิง (Binary opposition) ซึ่งเรือนร่างของนางงามถูกใช้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการและสื่อสารอัตลักษณ์ทางเพศ
บทความทั้ง 9 บทความ เสนอผลงานวิจัย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจ ซึ่ง MFU Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้ให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ รวมถึงร่วมสร้างพื้นที่ทางวิชาการอันจะเป็นรากฐานสำคัญของสังคมต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ร่มเย็น โกไศยกานนท์
บรรณาธิการ
Article Details
Copyright
Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences has an exclusive right to publish the accepted articles in any form. However, the author retains the following rights:
1. The right to the ownership of the article;
2. The right to use all or part of the article in his/her other works;
3. The right to re-produce the article for personal use or for use in the author’s organisation, in which case the author must obtain permission from Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences;
4. The right to make copies of all or part of the work for educational use or for the author’s use in classroom teaching; and
5. The right to include the work (both the preprinted and printed versions) in an institutional repository.