การเกษตรแนวพุทธเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการวิจัยเรื่องนี้ เพื่อศึกษาแนวคิดเกษตรแนวพุทธในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาพัฒนาการของการเกษตรแนวพุทธในสังคมไทย และเพื่อศึกษาวิเคราะห์การเกษตรแนวพุทธ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาจากพระไตรปิฎก หนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และภาคสนาม (Field study) เพื่อสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายนำไปวิเคราะห์ประกอบงานวิจัยนี้ ด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลจากการศึกษาพบว่า เกษตรแนวพุทธ เป็นการเกษตรที่ถือเอาแม่แบบหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือหลักความเป็นสายกลางในการทำงาน ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดำเนินกิจกรรมด้วยหลักทิฏฐธัมมิกัตถะ คือประโยชน์ในปัจจุบันที่คฤหัสถ์พึงถือเอามาปฏิบัติในการทำงาน คือ มีความพากเพียร ขยัน ไม่เกียจคร้าน รู้จักรักษาและปกป้องดูแลกิจการที่ตนดำเนินการอยู่ให้ปลอดภัย หรือมีภูมิคุ้มกันที่ดี ผู้แนะนำที่ดี และรู้จักใช้จ่ายทรัพย์ในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม มีหลักสำคัญ 5 ประการ คือ ด้านจิตใจ เป็นที่พึ่งของตนเอง ด้านสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้และจัดการอย่างฉลาด ด้านเทคโนโลยีและด้านเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และยึดหลัก พออยู่ พอกิน พอใช้ โดยนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาการเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นการทำเกษตรแนวพุทธ เพื่อทำให้เศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและถาวรต่อไปได้
พัฒนาการเกษตรแนวพุทธ มีความผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ได้สืบทอดกัน มาเป็นเวลากว่า 2,500 ปี โดยปรากฏในคัมภีร์ชั้นปฐมภูมิหลายแห่ง เช่น ในคัมภีร์วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภูตคามวรรค เป็นต้น โดยมีหลักคำสอนที่สอดคล้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ที่เป็นจริงของสังคม และมีความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ อิทธิพลของคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งมิได้สอนแต่เรื่องชีวิต แต่รวมไปถึงการประกอบอาชีพการเกษตรกรรมซึ่งเป็น “สัมมาอาชีวะ” เลี้ยงชีพชอบ ซึ่งก็คือวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในชนบท ส่วนรูปแบบต่าง ๆ ของการทำเกษตรกรรมยั่งยืน มีความแตกต่าง หลากหลายตามลักษณะของสภาพนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แนวทางของเกษตรกรรมแบบยั่งยืนสามารถจำแนกได้ 6 รูปแบบ คือ ระบบไร่หมุนเวียน วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ และเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งการเกษตรแนวพุทธ เป็นระบบนิเวศที่มนุษย์ออกแบบขึ้นมา จากระบบนิเวศตามธรรมชาติ และการเข้าให้ถึงธรรมชาติหรือไตรลักษณ์ จึงเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณขั้นสูงสุด องค์ประกอบของเกษตรแนวพุทธ คือ กระบวนทัศน์แนวพุทธ วิถีชีวิตเกษตรแนวพุทธ การรักษาสมดุลธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตามหลักเกษตรแนวพุทธ และการพึ่งพาตนเอง
การเกษตรตามแนวการดำเนินงานของธรรมสถาน สวนป่าทุ่งนาคำหลวง ซึ่งมีบทบาททางสังคม และเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชาวบ้าน ในการทำเกษตรแนวพุทธ แนวคิดและวิธีการดำเนินงานของผู้วิจัย (พระเทพรัตนมุนี) ได้นำบทพุทธมนต์มาสวดเพื่อช่วยเสริมในขณะปลูกพืช รดน้ำ และพรวนดินของพืชผักและต้นไม้ การสวดมนต์ในการเพาะปลูกพืชทุกชนิด มีส่วนช่วยให้พืชผักและต้นไม้งอกงามและมีผลผลิตที่ดี นวเกษตรแนวพุทธ จึงทำให้เป็นที่พึงทางด้านจิตใจ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว ชุมชนที่ยั่งยืนได้ ด้วยการนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้ ในการทำการเกษตรเข้ากับพื้นที่ของตนเอง เช่น ศีล 5 หลักอิทธิบาท 4 และ สังคหวัตถุ 4 เป็นต้น ทำให้สมาชิกกลุ่มเกษตรแนวพุทธ และประชาชนทั่วไปที่มาศึกษาดูงานนำไปเป็นแนวทางการทำเกษตร จนทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง อยู่ดีมีสุข สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตน และเป็นแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจชุมชนได้ ทำให้วิถีชีวิตที่มีการซื้อมาเพื่อการบริโภคน้อยลง มีอาหารบริโภคจากไร่นาของตนเอง ทำให้มีชีวิตปลอดภัยขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงภัยต่อสารพิษตกค้างในการบริโภค และมีงานทำในไร่นาตลอดวัน มีความสุขสงบในชีวิต เพราะได้อยู่กับธรรมชาติ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมีการรู้จักเหตุผล และพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้ไม่ต้องซื้อพืช ผัก ผลไม้ เพราะปลูกบริโภคได้ในพื้นที่ใช้สอยของตนเองทั้งในวัด บ้าน สวน ไร่ นา และนำไปจำหน่ายจ่ายแจกในชุมชนเพิ่มรายได้อีกด้วย
Article Details
References
พระมหาสังเวียร ปญฺญาธโร (ศรีมันตะ). (2550). บทบาทของพระสงฆ์ในการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน : กรณีศึกษา พระครูสุภาจารวัฒน์. ใน วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระเทพรัตนมุนี (สายพงศ์ อโนมปญฺโญ). (2554). วิถีเกษตรแนวพุทธ. อุดรธานี : เอกสารประกอบการอบรมเกษตรแนวพุทธ วัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.