การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อทักษะการฟังและการอ่าน ในการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) ระดับ 4 ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรศิลปะ ศาสตรบัณฑิต โปรแกรมวิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

Main Article Content

มาลัยรัตน์ คณิตชยานันท์ บอยซ์
ชุตินธร ฉิมสุข
ชวิศา กันกา

บทคัดย่อ

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานที่ต้องการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อทักษะการฟังและการอ่าน ในการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) ระดับ 4 ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต โปรแกรมวิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่มีผลต่อการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) ระดับ 4 โดยเป็นนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 1/2564 จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบทดสอบทักษะการฟังและการอ่านในการทำข้อสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) ระดับ 4 สอดคล้องกับมาตรฐานการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน ของสำนักงานกรรมการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานนาชาติ (Hanban) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน


            ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อทักษะการฟังและการอ่าน ในการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) ระดับ 4 ประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ 4 ประการได้แก่ 1. ปัจจัยด้านเนื้อหาที่มีความยากต่อความเข้าใจโดยเฉพาะหลักไวยากรณ์และคำศัพท์ภาษาจีน 2. ปัจจัยด้านตัวผู้เรียน นักศึกษามีแรงจูงใจในการเรียน จะสามารถช่วยผลักดันผู้เรียนให้มีความพยายาม หรือ ความกระตือรือร้นในการเรียนภาษาได้ดี ทัศนคติของผู้เรียน หากผู้สอนเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนหรือการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) ระดับ ๔ อีกทั้งหากผู้สอนจัดการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาได้ฝึกพูดสนทนากับเพื่อนชาวจีน หรืออาจารย์ชาวจีนเป็นประจำ หรือแม้แต่การนำเอาสื่อบันเทิงต่างๆ เช่น บทเพลง คลิปวิดีโอ มาช่วยในกระบวนการจัดการเรียนการสอน จะทำให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาจีน มีความประสบความสำเร็จในการเรียนและการสอบ 3. ปัจจัยด้านตัวผู้สอน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนและการสอบของผู้เรียน ซึ่งหากผู้สอนมีภาระงานที่มากจนเกินไปหรือมีเวลาพัฒนาตัวเองน้อยเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อผู้เรียนมาก และ 4. ปัจจัยภายนอกด้านอื่นๆ เช่น สื่อการสอน อุปกรณ์การเรียน สภาพห้องเรียน หรือแม้กระทั่งการเรียนในระบบออนไลน์อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม กรณีตามปัญหาข้างต้นผู้วิจัยมีข้อเสนอว่า การแก้ไขควรทำใน 2 ระดับ ในระดับแรกควรแก้ไขที่ตัวของผู้เรียนกับผู้สอน โดยกำหนดให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนให้มากขึ้น ออกแบบวิธีการสอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติและความสามารถของนักศึกษา รวมถึงการย่อเนื้อหาหรือคำศัพท์สำคัญ ที่คาดว่านักศึกษาจะได้ใช้ในการสอบ ระดับที่สอง คือการพูดคุยและขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับภาระงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการสอน เพราะหากภาระงานอื่นๆ ลดลงผู้สอนก็จะมีเวลาสำหรับการพัฒนานักศึกษาได้มากขึ้น เมื่อผู้สอนมีเวลามากขึ้นการคิดวิธีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาก็จะมากตาม และเมื่อนักศึกษาได้รับการพัฒนาและสอบวัดระดับได้มากขึ้นมหาวิทยาลัยก็จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย


คำสำคัญ: ปัจจัย, การสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน, ทักษะการฟัง,ทักษะการอ่าน

Article Details

บท
บทความวิจัย