ธรรมาภิบาลในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด : กรณีศึกษา คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด มหาสารคาม

Main Article Content

มณีรัตรน์ มิตรประสาท

Abstract

          การศึกษาวิจัยเรื่อง ธรรมาภิบาลในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด: กรณีศึกษาคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดมหาสารคาม เป็นกรณีศึกษาหนึ่งในสิบสองกรณี ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาโดยวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด ในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคม 2550 ในฐานะที่เป็นหน่วยงานระดับ “ปฏิบัติการ” ซึ่งถูกประเมินจากหลายฝ่ายว่าเป็นหน่วยที่มีความสำคัญและเอื้อต่อการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในกระบวนการสรรหา เกิดปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา และปัญหาเรื่องความเป็น กลางของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังวัด เป็นต้น โดยใช้แนวคิดเรื่องธรรมาภิบาล และระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ทั้งที่อยู่ในรูปของการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้มีส่วนได้เสีย และการสังเกต แบบมีส่วนร่วมในหน่วยการเลือกตั้ง
            ผลการศึกษาพบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคม พ.ศ.2550 ในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลบางส่วน กล่าวคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดมหาสารคาม สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ โดยสามารถจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย แต่ในกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการเลือกตั้งยังมีประเด็นที่เป็นปัญหาที่สำคัญ 2 ประการ คือ ในประการแรก การได้มาซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด มีความไม่โปร่งใสและให้เจ้าหน้าที่ที่สังกัดในกระทรวงมหาดไทยเข้ามามีบทบาทหลักในการจัดการเลือกตั้ง ส่งผลให้ประชาชนไม่ให้การยอมรับและไม่เชื่อมั่นว่า กกต.จังหวัดจะสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระและมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง อันสะท้อนถึงความไม่ชอบธรรม
ของกกต.จังหวัด
             ประการที่สองคือ เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเลือกตั้งแบบยึดกฎหมายเป็นหลัก และจำกัดขอบเขตของกิจกรรมการมีส่วนร่วมเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของ กกต.จังหวัดในลักษณะดังกล่าว จึงไม่เอื้อต่อการเปิดโอกาสให้ประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน หรือผู้มีส่วนได้เสีย เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อลดบทบาทของรัฐ ตามเจตนารมณ์ของหลักธรรมรัฐ
            นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตเรื่องความพร้อมรับผิดของ กกต.จังหวัด ซึ่งพบว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งบางประการ ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขและไม่มีการแสดงออกถึงความพร้อมรับผิดใด ๆ

Article Details

How to Cite
มิตรประสาท ม. (2016). ธรรมาภิบาลในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด : กรณีศึกษา คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด มหาสารคาม. Parichart Journal, 21(1), 43–55. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/parichartjournal/article/view/70039
Section
Research Articles