แนวทางการบริหารงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข : กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลา

Main Article Content

มานพ กาเลี่ยง

Abstract

การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และความคิดเห็นของบุคลากรต่องานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่มีผลต่องานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนศึกษาแนวทางการบริหารงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลสงขลา วิธีการวิจัยเชิงพรรณนาแบบผสมผสาน รวบรวมข้อมูลปฐมภูมิทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ข้อมูลเชิงคุณภาพได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลหลักเลือกแบบเจาะจงเป็นผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาล จำนวน 4 คน ข้อมูลเชิงปริมาณได้จากแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบกำหนดโควตาตามสัดส่วนลูกจ้างและพนักงานจำนวน 325 คน โดยแบบสอบถามมีความตรงตามเนื้อหาค่าดัชนีความสอดคล้องมากกว่า 0.60 แบบสอบถามความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ตรวจสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงของ คูเดอร์ ริชาร์ดสันเท่ากับ 0.616 และ 0.716 ตามลำดับ แบบสอบถามความคิดเห็น ตรวจสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์ แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.732 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอ้างอิง
ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ พบว่า ผู้บริหารโรงพยาบาลมีความมุ่งมั่นในการให้การสนับสนุนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลเป็นอย่างดี แต่มีอุปสรรคในเรื่องความไม่ชัดเจนในการกำหนดแผนงานด้านนี้ ทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่เท่าที่ควร ผลการศึกษาเชิงปริมาณโดยการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วม และความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงานระดับปานกลาง และมีระดับความคิดเห็นต่องานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงานอยู่ในระดับเห็นด้วย ส่วนผลจากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ระดับความคิดเห็นต่องานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงานระหว่างเพศแตกต่างกัน ส่วนการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำกับความคิดเห็นต่องานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ข้อเสนอจากการศึกษา คือ หน่วยงานควรมีการส่งเสริมการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงานต่อบุคลากรของโรงพยาบาลอย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน มุ่งเน้นการเปิดโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมของลูกจ้างและพนักงานในทุกระดับเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเรียนรู้ร่วมกัน
คำสำคัญ : ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลสงขลา

Article Details

How to Cite
กาเลี่ยง ม. (2015). แนวทางการบริหารงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข : กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลา. Princess of Naradhiwas University Journal of Humanities and Social Sciences, 2(2), 72–84. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/pnuhuso/article/view/52690
Section
Research Article