ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ผู้แต่ง

  • เริงศักดิ์ วิริยะชัยวงศ์

คำสำคัญ:

โลกาภิวัฒน์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                คอร์รัปชัน (Corution) เป็นปัญหาหนึ่งของประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะคอร์รัปชันทำลายขีดความสามารถ ทำให้ประเทศไทยไม่เจริญก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น เอาเงินสาธารณะไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากรของประเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด สูญเสียทรัพยากรและสิ้นเปลืองงบประมาณในการตรวจสอบ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลไม่มั่นคง ประชาชนขาดความไว้วางใจรัฐบาล ขาดการจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

                ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ทำไมจึงมีปัญหาคอร์รัปชันมากและนับวันจะขยายตัวมากขึ้น

                การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้รับการยอมรับเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด
เพราะการปกครองในระบอบนี้ยึดถือหลักนิติธรรม (The Rule of Law) หรือหลักนิติรัฐ (Legal State
Principle) รัฐจึงมีอำนาจจำกัดการใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปตามความยินยอมของประชาชน และในกรอบของกฎหมาย เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและกำหนดนโยบายต่างๆ มีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญเป็นกรอบในการใช้อำนาจของรัฐ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีความเท่าเทียมกันในสิทธิเสรีภาพและโอกาส เป็นการปกครองโดยเสียงของคนส่วนมาก แต่ไม่ลืมสิทธิของคนส่วนน้อย (Majority Rule, Minority rights)

                ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา(Parliamentary Government)ซึ่งการปกครองในระบอบนี้อยู่บนความคิดพื้นฐานว่าด้วยรัฐเสรีประชาธิปไตย (Liberal and Democratic State) แนวคิดทุนนิยมเสรี (Capitalism) ซึ่งยอมรับในสิทธิส่วนบุคคลมาเป็นรากฐานทางการเมืองยินยอมให้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและสามารถถือครองทรัพย์สินโดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งสนับสนุนให้มีการค้าอย่างเสรีและมีระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด การที่ทุนนิยมมีพื้นฐานความคิดให้มีการสะสมทรัพย์สินและแสวงหาความสุขจากทรัพย์สินโดยเสรีไม่มีข้อจำกัด ทำให้ทุนนิยมและเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วและพัฒนาไปเป็นพวกวัตถุนิยม (Materialism) และการมีพฤติกรรมบริโภคนิยม (Consumerism) ซึ่งให้ความสำคัญกับการถือครองทรัพย์สินโดยไม่สนใจวิธีการได้มาว่าจะชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมหรือไม่มีการบริโภคสินค้าและบริการเกินความจำเป็นเพราะอยากได้ความสุขและการยอมรับว่ามีสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าคนทั่วไป วิธีการดังกล่าวนำไปสู่การคอร์รัปชัน
เพราะวิธีคิดดังกล่าวก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ แม้ในระบอบประชาธิปไตยยินยอมให้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่คนในสังคมไทยก็ไม่มีความเท่าเทียมกันในเรื่องของทุนและโอกาส
การลงทุนและการค้าเสรีโดยไม่มีการควบคุมก่อให้เกิดคอร์รัปชันและความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน
ในรายได้ของคนในสังคมไทย ยิ่งเศรษฐกิจขยายตัวมากเท่าไหร่ค่าความไม่เท่าเทียมกันก็จะมากขึ้น เมื่อมีทรัพย์สินเงินทองมาก็ต้องการอำนาจทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) ขึ้นในสังคม
นักธุรกิจเข้าสู่ระบบการเมืองระดับประเทศและระดับท้องถิ่นโดยใช้เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในการหาคะแนนเสียงและเป็นวิธีการที่นักธุรกิจการเมืองใช้เพื่อชนะการเลือกตั้งและได้อำนาจเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งนี่คือปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานในสังคมไทย

                เมื่อมีคอร์รัปชันมากจึงมีความจำเป็นในการควบคุมและตรวจในประเทศเสรีประชาธิปไตย มีการควบคุมตรวจสอบหลายวิธีทั้งในทางการเมืองและในทางกฎหมาย การตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ(Justice Organ)เป็นการควบคุมตรวจสอบวิธีหนึ่งในเเง่ของความชอบด้วยกฎหมาย และโทษในทางอาญาและในทางแพ่ง

                คอร์รัปชันจัดเป็นอาชญากรรม (Crime) ประเภทหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศด้านความโปร่งใส (Transparency International) ให้คำนิยามว่า คอร์รัปชัน คือการใช้อำนาจที่ได้รับความไว้วางใจในทางที่ผิดเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล พจนานุกรมไทยให้ความหมายว่า หมายถึง การฉ้อราษฎร์บังหลวงเบียดเบียนเอาโดยอำนาจหน้าที่ราชการ แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแปลคำว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Corruption ประเทศไทยมีปัญหาคอร์รัปชัน
มานานแล้วและมีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการค้าเสรี ค่าดรรชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันอยู่ในระดับต่ำ
ในปี 2559 อยู่ที่ระดับ 35 ลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันสูง ซึ่งประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบในวงการ (ป.ป.ป.) ขึ้น และต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เป็นองค์กรอิสระ และมีการตราพระราชบัญญัติต่างๆ อีกหลายฉบับขึ้นมาเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันแต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่

                การดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชันเดิมจะดำเนินคดีในศาลอาญาและศาลชั้นต้นทั้งประเทศ
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการดำเนินคดีคอร์รัปชันต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งไม่ครอบคลุมคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือคดีคอร์รัปชันทั้งหมด สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีอาญาและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 และศาลยุติธรรมได้จัดตั้งและเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 จัดตั้งและเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ภาค 3 ภาค 4 ภาค 5 ภาค 6 ภาค 8 และภาค 9
ขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2560 ส่วนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 และภาค 7 เปิดทำการในวันที่ 1 ตุลาคม 2560

                หลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปลี่ยนแปลงไปจากวิธีพิจารณาคดีอาญาเดิมหลายประการ เช่น ใช้ระบบไต่สวน (Inquisitorial System)
แทนระบบกล่าวหา (Accusatorial System) การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน นอกจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งจริงจัง รวดเร็ว และเป็นธรรมซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาพฤติกรรมของคนไทย
แต่ที่สำคัญยังต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติและค่านิยมของคนไทยด้วย

          วิธีคิดที่จะหยุดยั้งคอร์รัปชัน คือการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) มาปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติ และค่านิยมของคนไทยให้มีความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวโดยให้ประชาชนคนไทยมีความรู้ ความรอบคอบ คุณธรรม และไม่ประมาทมีชีวิตที่พอยู่พอกินตามสมควรแก่อัตภาพ มีความพอใจในความต้องการ มีความโลภน้อย
ทำอะไรก็พอเพียงพอประมาณ ซึ่งจะทำให้คนไทยสะสมทรัพย์สินอย่างถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติ และค่านิยมของคนไทย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-02-14